ผู้ที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันนั้นที่จริงมีมานานแล้วและมีมาก่อนกระแสสังคมจักรยานแฟชั่นจะกำเนิดเกิดขึ้น พวกเขาเหล่านั้นใช้ชีวิตร่วมกันกับยานพาหนะชนิดอื่นได้โดยไม่ขัดเขิน ไม่ต้องเติมแต่งก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่ทุกวันนี้สังคมจักรยานแบบกระแสได้เข้ามาและพยามสร้างบทบาทเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหมายถึงโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน (Infrastructure)เพียงตอบสนองความต้องการทางไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) ของชีวิตเท่านั้น ไม่ได้มองถึงองค์ประกอบอื่นๆที่มากไปกว่านั้น
ผมเองใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ไม่ได้มาจากการที่ผมโลกสวยหรือเพราะแฟชั่น แต่ผมใช้เพราะมันจำเป็นสำหรับผม เพราะมันทำให้ผมลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันที่แพงหูดับแบบไม่เกรงใจประชาชน ผมลุกขึ้นมาปั่นจักรยานและไม่เคยเรียกร้องว่ารัฐต้องมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ มีหลายคนที่ไม่พอใจและมองว่าผมไม่เข้าใจและถามว่าผมเป็นคนกลุ่มไหนในสังคมจักรยาน
สังคมจักรยานถูกแบ่งออกเป็นรูปแบบพีระมิดมีสามส่วน ส่วนยอดสุดที่มีจำนวนน้อยที่สุดคือกลุ่มนักแข่งขันจักรยาน กลุ่มตรงกลางคือกลุ่มที่เป็นสีสันของสังคมจักรยาน กลุ่มนี้รวมถึงกลุ่มที่ปั่นเพื่อสุขภาพ ปั่นตามเพื่อนๆคนรอบตัว หรือเพราะเขาฮิตฉันก็ฮิตด้วย ซึ่งหมายถึงกลุ่มแฟชั่นจักรยาน คนกลุ่มนี้จะจัดเต็มตั้งแต่รถจักรยาน เครื่องแต่งกายที่ราวกับจะไปแข่งตรูเดอฟร้อง นิยมปั่นเป็นกลุ่ม ปั่นไปถ่ายรูปเซลฟี่ไป ปั่นกันเฉพาะวันหยุดหรือเวลาเย็นๆเพื่อออกกำลังกายเท่านั้น และกลุ่มสุดท้ายที่เก่าแก่และมีจำนวนมากที่สุดที่อยู่ฐานล่างของพีระมิดนั่นคือ กลุ่มผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน
หลายคนสับสนและไม่เข้าใจว่ากลุ่มแฟชั่นกับกลุ่มผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันต่างกันอย่างไร มันต่างกันตรงที่ผู้ใช้ในชีวิตประจำวันเขาใช้จักรยานในการเดินทาง ไปธุระ ไปซื้อของ ไปส่งบุตรหลานไปโรงเรียน หรือใช้ไปทำงาน กลุ่มนี้จึงมีความคล้ายคลึงกับกลุ่มแฟชั่นและคนในกลุ่มแฟชั่นบางคนก็เปลี่ยนตัวเองมาเป็นคนกลุ่มนี้ ดังนั้นเข้าใจให้ตรงกัน ผมไม่ได้แบ่งคนสองกลุ่มนี้จากชนิดของจักรยาน ราคาของจักรยาน หรือเสื้อผ้าหน้าผมรวมถึงอุปกรณ์ แต่แบ่งตามลักษณะการใช้งาน ย้ำว่าแบ่งกันตามลักษณะการใช้งานไม่ใช่แบ่งที่การแต่งตัว ชนิดหรือราคาของจักรยาน
มาเข้าเรื่องโครงสร้างพื้นฐานกันต่อ โครงสร้างพื้นฐาน หรือสาธารณูปโภคพื้นฐานในส่วนนี้ผมหมายถึงเฉพาะถนนที่ใช้ในการคมนาคม เรามามองกันตามหลักความเป็นจริง ถนนในเมืองกรุงเทพมีความกว้างแบ่งช่องจารจรได้ 2-3ช่องทาง ซึ่งทุกวันนี้โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วนรถมันก็เต็มทุกช่องจารจร เบียดกันจนกระจกข้างแทบจะเกี่ยวกัน แล้วอยู่มาวันหนึ่งพวกเราชาวจักรยานก็ลุกขึ้นมาบอกว่าพวกฉันปั่นจักรยานไม่สะดวก ปั่นแล้วเดี๋ยวรถชน ให้แบ่งช่องถนนออกมาเพื่อจักรยานหนึ่งช่อง บางคนก็บอกกว้าง1เมตร บางคนบอกจะเอา2เมตร ถามจริงๆเถอะครับ ไอ้ถนนที่มันมีอยู่ทุกวันนี้มันก็ไม่เพียงพอต่อการจารจรโดยยานพหนะหลักอยู่แล้ว จะให้แบ่งมาให้พวกเราที่ไม่ได้ใช้จักรยานเดินทางเพียงกี่คนมาใช้ มันคุ้มกันหรือเปล่า แล้วไปสอบถามคนที่เขาใช้ยานพาหนะชนิดอื่นหรือยังครับว่าเขารู้สึกเห็นด้วยหรือไม่ ที่ผ่านมาตีสีแบ่งเส้นเป็นช่องจักรยานผมถามจริงๆเคยมีคนเอาเครื่องมือไปนั่งกดนับแบบคนเข้าห้างน่ะ ลองดูสิครับว่าวันหนึ่งมันมีกี่คนที่ใช้จักรยานสัญจร เพราะผมทั้งปั่นจักรยาน ทั้งขี่มอเตอร์ไซด์ ทั้งขับรถยนต์ในกรุงเทพมายี่สิบกว่าปี ผมว่าผมนั่งเช้ายันเย็นเห็นจักรยานใช้กันไม่เกินสิบคันถ้าไม่มีการจัดอีเว้นท์นะ แล้วจะให้คนส่วนใหญ่เขาต้องเสียพื้นที่ในการสัญจรที่มีอยู่น้อยนิดอยู่แล้วให้หรือครับ
เหมือนกับที่บางคนบอกทางจักรยานที่มีมันไม่ดีปั่นไม่ได้ มีคนเอาของมาตั้งขวาง มีมอเตอร์ไซด์วิ่งสวน มีรถมาจอด ผมตอบให้ก็ได้ก็เพราะมันไม่มีจักรยานมาใช้ยังไงล่ะครับ บอกแล้วว่านั่งนับดูสินับแบบไม่ตอแหลไม่สร้างภาพแล้วดูสิครับว่าหนึ่งชั่วโมงมีจักรยานผ่านมาใช้กี่คน หนึ่งวันมีจักรยานใช้กี่คัน มันไม่มีเพราะบางคนที่เรียกร้องก็ไม่ได้ใช้จักรยานในการเดินทางในชีวิตประจำวันจริงๆเลยด้วยซ้ำ ผมกล้าพูดแบบนี้ผมพูดตรงๆใครจะคิดยังไงก็อยู่ตัวเขาเหล่านั้นว่าอยากจะโกหกตัวเองหรือสังคมมากแค่ไหนก็ตามใจเพราะมีบางคนถามว่าผมเป็นคนกลุ่มไหนในพีระมิด ผมอยากให้ถามว่าผมเห็นคนกี่คนใช้จักรยานเดินทางในชีวิตประจำวันจะดีกว่า แล้วย้อนกลับไปที่ตัวคนถามด้วยว่าใช้จักรยานแบบไหน ตอบตรงๆไม่ต้องโกหกแล้วคุณจะรู้เองว่าการไปเปียดบังพื้นที่การจารจรหลักนั้นมันจำเป็นหรือไม่
การที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐทำโน่นนี่นั่นผมจึงมองว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ตรงประเด็นนักหากกลุ่มที่เรียกร้องมองแค่ว่าฉันจะได้มีที่ปั่นจักรยานเป็นกลุ่มๆได้ มีที่ปั่นออกกำลังกายผมว่ามันผิดถนัดเลยล่ะ ถ้าอยากรวมกลุ่มปั่นจักรยานออกกำลังกายปั่นแถวบ้านก็ได้ ปั่นในตรอกในซอยหรือสวนสาธารณะแถวบ้านหรือบางหมู่บ้านมีพื้นที่มีสวนสาธารณะก็สามารถใช้ได้ไม่จำเป็นต้องให้รัฐไปตีสีขีดเส้นแบ่งถนนในการสัญจรหลักเฉพาะจักรยานหรอก ขืนทำแบบนั้นเกิดพวกขี่มอเตอร์ไซด์บอกผมอยากได้เลนมอเตอร์ไซด์เพราะวิ่งตามรถยนต์มันช้า มันอันตรายเดี๋ยวไปเกี่ยวกับรถยนต์แล้วล้ม วิ่งขวาก็ไม่ได้คุณตำรวจเขาจับทั้งที่รถมอเตอร์ไซด์ก็วิ่งได้เร็วไม่แพ้รถยนต์ยิ่งบิ๊กไบค์นี่วิ่งได้เร็วรถยนต์เสียอีก เป็นแบบนั้นคุณว่าเขามีสิทธิเรียกร้องไหมล่ะ ผมว่ามีนะ...และถ้าเขาเกิดรวมตัวกันเรียกร้องขึ้นมาแบบกลุ่มจักรยานแฟชั่นจะทำอย่างไร มันไม่ยุ่งตายห่ะเรอะครับ คนใช้มอเตอร์ไซด์มากกว่าคนใช้จักรยานแบบเทียบไม่ติดซะด้วย
ดังนั้นที่ผ่านมาผมพยามบอกกับทุกคนที่ผมรู้จักและที่มีโอกาสได้พูดคุยด้วยในเรื่องการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันว่า "จักรยานใช้ในการเดินทางได้ และมันอันตราย ไม่ต่างจากพาหนะชนิดอื่น เราจึงต้องมีความระมัดระวังเสมอ" สำหรับผมตราบใดที่ยังมีผู้ใช้จักรยานเดินทางในชีวิตประจำวันแทนยานพาหนะหลักเป็นจำนวนที่ไม่มากกว่าที่เป็นอยู่ มันก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงสร้างขนาดใหญ่เพราะที่ผ่านมามันเป็นการทำเพื่อการท่องเที่ยวมากกว่าใช้ในการสัญจรจริงๆ และถ้าอยากจะเริ่มให้สังคมไทยเป็นสังคมจักรยานมันต้องเริ่มต้นที่ระเบียบวินัยในการขับขี่ การเคารพกฏจารจร เคารพสิทธิของกันและกัน รู้จักแบ่งปันเอื้อเฟื้อกันในการสัญจร และหากจะทำก็ควรจะเริ่มที่จุดเชื่อมต่อถนนหรือทางข้ามทางกลับรถให้สะดวกและปลอดภัยขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องแบกจักรยานข้ามสะพานลอยทุกครั้ง(ตอนนี้ผมยังนิยมแบกจักรยานข้ามสะพานลอยเสมอ) ส่วนเส้นทางถนนหลักนั้นผมปั่นไปทำงานปั่นไปเที่ยวผมก็ไม่เคยรู้สึกว่ามันเป็นปัญหา ปัญหาของผมมีอย่างเดียวคือเวลานี้คนบางกลุ่มเริ่มไม่พอใจคนที่ปั่นจักรยานบนถนนเสียแล้ว
ผมเขียนบทความนี้เพราะผมหมายความแบบนั้นจริงๆหากเราพร่ำเพ้อเรียกร้องให้รัฐทำอะไรๆเพื่อสนองตัญหาโดยไม่ยอมมองที่ความเป็นจริง สิ่งที่เราจะการตอบรับจากกระแสตรงนี้คือ การร่วมมือกันระหว่างรัฐ นักการเมือง และนักธุรกิจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากกระแสชิ้นเนื้อนี้โดย "เราทุกคนคือเหยื่อ" เหยื่ออันโอชะสำหรับผู้ที่หวังเข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากเรา จากกระแสสังคมที่เกิดโดยพวกเราผู้ที่ใช้จักรยาน ที่ไม่สามารถแยกแยะได้ระหว่างความจำเป็นพื้นฐานของสังคมส่วนใหญ่กับตัญหาส่วนตัว