วันศุกร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ปั่นจักรยานเที่ยว น้ำฟ้าป่าเขา

ใกล้เทศกาลปีใหม่ ผู้คนส่วนมากก็เริ่มวางแผนที่จะท่องเที่ยวกันและแน่นอนผมก็เป็นหนึ่งในคนจำนวนนั้นเพียงแต่ผมวางแผนเอาไว้ว่าจะไม่ไปเที่ยวช่วงปีใหม่แต่ผมจะไปก่อนวันหยุดยาวสิ้นปีเพราะผมไม่ต้องการที่จะไปเจอกับฝูงมนุษย์ที่แออัดกันอยู่บนท้องถนนและแหล่งท่องเที่ยวเพราะผมตั้งใจจะปั่นจักรยานไปเที่ยวและกางเต็นท์นอนเพื่อพักสมองให้สงบดังนั้นผมไม่อยากจะไปเจอสภาพที่เรียกกันว่า"สลัมเต็นท์" ก่อนที่จะต้องกลับมาลุยงานในช่วงปีใหม่นั่นเอง ดังนั้นผมจึงเลือกสถานที่ไม่ไกลจากกรุงเทพมากนักเพื่อจะได้มีเวลาเดินทางโดยไม่ต้องเร่งรีบผมจึงตัดสินใจปั่นจักรยานไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาสามหลั่น จังหวัดสระบุรี และก่อนออกเดินทางผมพยามเลือกเส้นทางที่ไม่ใช่ถนนหลักแต่พยามเลือกถนนรองหรือทางหลวงชนบทเพื่อเลี่ยงการเจอกับรถใหญ่ หลังจากกำหนดสถานที่และเส้นทางในการปั่นแล้วเย็นวันอาทิตย์หลังจากกลับมาจากการทำงานผมก็เก็บของขึ้นหลังเจ้าปรอทเตรียมพร้อมเดินทางในวันรุ่งขึ้น เช้าวันจันทร์22ธันวาคม เวลา 7.00น. ล้อเจ้าปรอทพาหนะเดินทางในทริปนี้ของผมก็หมุนออกจากบ้านพักย่านรามอินทรามุ่งหน้าเข้าจังหวัดสระบุรีโดยปั่นมาเรื่อยๆมุ่งออกทางสายไหมและตัดเข้าทางหลวงชนบท3010และทางหลวงชนบท1021ก่อนมุ่งหน้าเข้าสู่ถนนพหลโยธินตรงไปเรื่อยๆผ่านวังน้อยอยุธยาผ่านหินกองและเลี้ยวเข้าวัดพระฉายและจากวัดพระฉายผมมุ่งหน้าต่อไปอีก3กิโลก็เข้าสู่อทุยานแห่งชาติเขาสามหลั่น

**ชมคลิปกันก่อนครับ**





ภาพบรรยากาศระหว่างปั่นจักรยานเที่ยวในทริปนี้
"เส้นทางสวยแปลกตา"








"หออัครศิลปิน"


ผมมาถึงอุทยานก็ราวบ่ายสามโมงซึ่งช้ากว่าที่ผมกำหนดเอาไว้หลายชั่วโมงเพราะระหว่างทางผมแวะลั่นล้าไปเรื่อยปั่นแบบกินลมชมวิวแวะกินแวะถ่าบรูปแวะเข้าไปปั่นเที่ยวบริเวณหออัครศิลปิน แวะคุยกับชาวบ้านข้างทางแม่ค้าขายกาแฟสดและคุยกับคุณตำรวจที่กวักมือเรียกผมเข้าสอบถามด้วยความห่วงใยเพราะบริเวณหินกองมีการปรับปรุงถนนอยู่และปิดเลนด้านหนึ่งอีกทั้งมีรถบรรทุกวิ่งกันเยอะก็ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจครับ หลังจากมาถึงอทุยานแห่งชาติเขาสามหลั่นผมก็มองหาที่กางเต็นท์เพราะที่นี่้เราสามารถเลือกจุดกางเต็นท์ได้ตามสะดวกแต่ผมเลือกกางในพื้นที่โล่งๆใกล้กับศูนย์อำนวยการนักท่องเที่ยวใกล้ห้องน้ำและไม่อยู่ใต้ต้นไม้เพราะช่วงนี้ลมแรงกิ่งไม้อาจจะหักโค่นลงมาไม่สนุกแน่ถ้ามาโดนกิ่งไม้หักโค่นทับเต็นท์ขณะกำลังนอนหลับ โดยระหว่างนั้นมีเจ้าหน้าที่อุทยานชื่อพี่โต้งแกเข้ามาสอบถามว่าผมทานอะไรมาหรือยังเพราะร้านค้าสวัสดิการที่นี่ปิดผมก็เลยบอกว่าผมไม่ได้เตรียมอาหารมาเพราะก่อนมาผมหาข้อมูลเขาบอกว่าที่นี่มีร้านค้าสวัสดิการ(เป็นความประมาทของผมเอง)แกก็ใจดีครับเอาข้าวเหนียวกุนเชียง น้ำเย็นหนึ่งขวดและกล้วยน้ำหว้าอีกครึ่งหวีเพื่อรองท้องผมจะให้เงินตอบแทนก็ไม่รับบอกไม่เป็นไรเพราะแกก็เป็นชอบปั่นจักรยานเหมือนกัน แถมตอนเย็นแกก็ยังออกไปซื้อข้าวผัด กาแฟและขนมมาให้ผมอีกน้ำใจงามมากๆครับ
"พี่โต้งเจ้าหน้าที่อุทยาน"

"พี่สมคิดเจ้าที่พิทักษ์ป่า"
"ข้าวเหนียวกุนเชียงช่วยชีวิต"





เช้าวันรุ่งขึ้นผมตื่นขึ้นมาแต่เช้ามืดออกมายืนสูดอากาศบริสุทธิ์ที่กำลังเย็นสบายซึ่งไม่พบเจอในกรุงเทพ ลุงสำเนียงยามก่ะกลางคืนของอุทยานก็เข้ามาชวนผมคุยเรื่องต่างๆมากมาย ลุงแกเป็นคนพูดเก่งครับเล่าเรื่องราวต่างๆให้ผมฟังเยอะโดยเฉพาะประวัติของอุทยานแกจำได้หมดว่าเปิดเมื่อไหร่เป็นสวนป่าปีไหนเป็นวนอุทยานปีไหนและเป็นอุทยานปีไหนมีหัวหน้าอุทยานมาแล้วกี่คนชื่ออะไรบ้างและลุงแกยังบอกผมอีกว่าอทุยานแห่งชาติเขาสามหลั่นนี้เป็นอุทยานที่มีขนาดเล็กที่สุดในประเทศไทยและยังมีอีกหลายเรื่องที่แกเล่าให้ผมฟังแกเป็นคนพูดเก่งมากแต่แปลกที่แกบอกตลอดว่าผมพูดเก่งทั้งที่จริงผมเป็นคนฟังซะมากกว่า(ฮา) พอตะวันเริ่มส่องแสงผมก็ปั่นจักรยานออกมาจากอุทยานโดยตั้งใจจะขึ้นไปเที่ยวเขาพระพุทธฉาย สำหรับพระพุทธฉายนั้นเป็นภาพสีของสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า มีลักษณะเป็นเงาสีแดงคล้ายประภามณฑล หรือรัศมีโดยรอบพระพุทธรูป คล้ายสีดินเทศ มีความสูงประมาณ 5 เมตร ปรากฏประทับติดอยู่กับชะง่อนหน้าผาสูงบริเวณเชิงเขาปถวี ประดิษฐานอยู่ในมณฑป ณ เงื้อมเขามาฎะกะ (เขาช่องลม) ค้นพบสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งค้นพบพร้อมกับรอยพระพุทธบาทที่สระบุรี ในบริเวณใกล้เคียงมีมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทเบื้องขวามณฑปหลังนี้สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือและมีต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่อัญเชิญมาจากลังกา เมื่อ พ.ศ. 2492 ทุกปีจะมีงานนมัสการพระพุทธฉายพร้อมกับงานนมัสการรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี แต่น่าเสียดายช่วงที่ผมไปนั้นยังเช้าอยู่ผมไม่ได้เข้าไปถ่ายภาพรอยพระฉายเพราะเขาบอกยังไม่เปิดผมจึงเดินขึ้นไปบนยอดเขานัมัสการรอยพระบาทซึ่งตอนผมไปยังไม่เปิดเหมือนกันแต่โชคดีมีเจ้าหน้ากำลังทำความสะอาดบริเวณนั้นอยู่เขาจึงเปิดให้ผมเขาไปนมัสการรอยพระพุทธบาท











หลังจากเดินเที่ยวในเขาพระฉายพร้อมกับถ่ายภาพวิวสวยๆและเจ้าจ๋อที่อาศัยอยู่บริเวณวัดพระฉายแล้วผมก็เดินทางกลับมาที่อุทยานเพื่อที่จะขึ้นไปเที่ยวบริเวณน้ำตกเขาสามหลั่น สำหรับการมาเที่ยวน้ำตกเขาสามหลั่นในช่วงนี้นั้นไม่มีน้ำเรียกว่าน้ำแห้งเลยก็ได้ผมได้รับคำตอบจากพี่โต้งว่าที่น้ำแห้งเพราะอ่างเก็บน้ำด้านหน้าอุทยานแตกตั้งแต่ปี54เมื่อคราวน้ำท่วมใหญ่ประเทศไทยนั่นล่ะครับ แต่ทางอุทยานยังไม่ได้งบประมาณมาซ่อมแซมจึงทำให้ไม่สามารถกักน้ำไว้ได้ในฤดูฝน แต่พี่โต้งก็บอกว่าปีหน้าอุทยานอาจจะได้งบประมาณมาพัฒนาพื้นที่และซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำซึ่งก็จะเร่งทำถ้าได้งบมา และระหว่างที่ผมกำลังเดินถ่ายภาพน้ำตกเขาสามหลั่นอยู่ผมก็เจอกับพี่สมคิดเจ้าหน้าที่พิทักษ์อุทยานเดินลงมาจากบนยอดเขาและพี่เขาก็แนะนำให้ผมเดินขึ้นต่อไปอีกจะมีอ่างเก็บน้ำเขาสามหลั่นซึ่งตอนนี้พวกพี่สมคิดกำลังปรับปรุงตัดถางต้นกระถินยักษ์ออกเพื่อปรับปรุงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและกางเต็นท์ซึ่งเมื่อผมเดินขึ้นไปก็ต้องบอกว่าสวยจริงครับและมีร่องรอยการตัดต้นไม้ถางหญ้าเพื่อเปิดพื้นที่ของพี่สมคิดตลอดแนวถ้าทำเสร็จผมว่าที่นี่คือจุดกางเต็นท์ที่น่ามาพักผ่อนมากเพราะอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพ นอกจากนั้นพี่สมคิดกับเพื่อนๆเจ้าหน้าที่ยังบอกกับผมว่าที่เขาสามหลั่นนั้นมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจและอยากให้รัฐบาลพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ นั่นก็คือรอบเขาสามหลั่น เขาแดง จะมีแนวบังเกอร์ของกองทัพญี่ปุ่นในยุคสงครามโลกครั้งที่สองอยู่ ซึ่งถูกขุดเอาไว้เป็นหลุมเพาะรอบทั้งเขา แต่ละหลุมมีความลึกท่วมหัวและมีร่องรอยการเอาท่อนไม้มาปิดแนวหลุมไว้เพื่อกันไม่ให้ทหารสัมพันธมิตรเห็นอีกทั้งแต่ละแนวจะยาวเชื่อมกันมีจุดที่เป็นป้อมปืนที่ซุกซ่อนอยู่ในโพรงหินซึ่งปากกระบอกปืนจะจ่อไปทางกรุงเทพและอยุธยานอกจากนั้นพวกพี่เขายังบอกว่าในสมัยก่อนสามารถมองได้ไกลถึงรังสิตพื้นที่นี้จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่กองทัพญี่ปุ่นมาตังไว้นั่นเอง เสียดายที่ผมเซฟรูปและคลิปวีดีโอมาจากคอมของพี่สมคิดไม่ได้แต่ก็บอกกับแกว่าไว้มีโอกาสผมจะให้เขาพาขึ้นไปดูแนวบังเกอร์เหล่านั้นพี่สมคิดบอกว่าเวลานี้บางหลุมก็โดนชาวบ้านไปรื้อขโมยไม้ที่ปิดปากหลุมไปทำให้ดินถล่มถมหลุมจนตื้นบางแห่งก็มีการขุดเอาของใช้ทหารญืี่ปุ่นไปขายซึ่งน่าเสียดายมากและยังบอกว่าที่บริเวณนั่นทุกปีจะมีชาวญี่ปุ่นเดินทางมาเพื่อสักการะดวงวิญญาณของบรรพบุรุษพวกเขา
"อ่างเก็บน้ำเขาสามหลั่นที่กำลังพัฒนาเพื่อเป็นจุดกางเต็นท์"


ผมเดินกลับลงมาจากอ่างเก็บน้ำเขาสามหลั่นก็มาเจอกับคณะของเด็กๆจากโรงเรียนพระฉายที่มาเข้าค่ายธรรมะกันกำลังส่งเสียงเจี้ยวจ้าวทำให้เริ่มมีความรู้สึกเหมือนกับที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นมาอีกครั้งเพราะตลอดวันที่ผมมาถึงมีเพียงผมคนเดียวหัวโด่ที่เป็นนักท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่อทุยานบอกกับผมว่าส่วนมากคนมาเที่ยวจะถามก่อนเลยว่าน้ำตกมีน้ำมั้ยพอบอกไม่มีน้ำก็จะกลับกันไม่เข้ามาเที่ยวทำให้ที่นี่มีคนเข้ามาเที่ยวค่อนข้างน้อยนั่นเอง แสงตะวันเริ่มอ่อนลงผมปั่นเจ้าปรอทออกไปหาอะไรกินนอกอุทยานเช่นเดิมเพราะร้านค้าสวัสดีการที่นี่ปิด(ก็ไม่มีนักท่องเที่ยวนี่นา)ก่อนจะกลับมาอาบน้ำและเตรียวตัวนอนพักผ่อนเพราะพรุ่งนี้ผมจะเดินทางกลับบ้าน แต่ยังไม่ทันจะได้ทำอะไรลุงสำเนียงก็มาเข้าเวรพร้อมหอบหมอนและผ้าห่มมาให้เพราะกลัวผมหนาวและเริ่มชวนผมคุยอีก กว่าผมจะร่ำลาขอตัวแกได้ก็เกือบสามทุ่ม และแกก็ทิ้งท้ายว่า "ผมคุยเก่ง (ฮา)"

เช้ารุ่งขึ้นผมร่ำลาอุทยานแห่งชาติที่เล็กที่สุดในประเทศในช่วงสายๆ และปั่นออกมาพร้อมกับรอยยิ้มในใจแม้นที่นี่จะเล็กและไม่สวยเด็ดเหมือนอุทยานที่มีชื่อเสียงแต่ก็มีน้ำใจมากมายจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งนี้ ไว้มีโอกาสผมจะกลับมาเยี่ยมเยียนที่นี่อีกโดยเฉพาะเรื่องบังเกอร์ของทหารญี่ปุ่นที่ผมยังอยากจะไปดูด้วยตาของตัวเอง สายลมเย็นๆพัดผ่านตัวผมไปล้อจักรยานยังหมุนต่อไปเรื่อยๆเช่นเดียวกับชีวิตของเราที่ยังคงต้องหมุนเดินต่อไป
**ชมภาพถ่ายจากทริปนี้ได้ที่นี่นะครับ**



วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2557

รีวิวกล้อง Action Camera ราคาถูกสำหรับนักปั่น

สำหรับนักปั่นจักรยานในยุคดิจิตอลนี้การถ่ายภาพตัวเองหรือการถ่ายเหตุการณ์ขณะปั่นจักรยานดูจะเป็นเรื่องราวที่หลายคนชื่นชอบ เพราะมันเหมือนได้บันทึกเรื่องราวส่วนหนึ่งของชีวิตเอาไว้เป็นรูปภาพเป็นภาพเคลื่อนไหว ผมเองก็ชอบการถ่ายภาพไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวและผมเคยลองใช้มือถือถ่ายภาพวีดีโอขณะปั่นจักรยานแม้นไฟล์ภาพวีดีโอที่ทำออกมาจากกล้องมือถือ(ของผม)จะไม่ขี้เหร่แต่ก็ค่อนข้างที่จะไม่สะดวกเพราะผมไม่มีอุปกรณ์เสริมในการช่วยจับยึดกล้องเอาไว้ให้ติดกับตัวรถ ดังนั้นผมจึงมองหากล้องที่จะเอามาถ่ายวิดีโอได้และยึดติดกับรถจักรยานได้ซึ่งเมื่อลองไปหาดูก็พบว่ามันมีราคาที่แตกต่างกันมากทั้งถูกและแพง สำหรับคนกระเป๋าเบาแบบผมตัวเลือกจึงไปตกอยู่กับกล้อง Action Camera ราคาถูก ดังนั้นเพื่อไม่ให้เสียเวลาผมจัดการสั่งซื้อมาทันที เย้...




หลังจากซื้อกล้องมาเรียบร้อยคราวนี้ผมก็มาแก่ะกล่องทดสอบกันเลยว่ามันจะดีเยี่ยมแค่ไหน หรือว่าห่วยตามราคา อ้อ...ลืมไปครับ ข้างๆกันคือ Power Bank อันนั้นซื้อมาพร้อมกันเอาไว้มีโอกาสจะมารีวิวอีกครั้ง
เอาล่ะครับหลังจากได้กล้องมาผมก็แก่ะกล่องเลย ภายในกล่องมีตัวกล้องและอุปกรณ์เสริมเพื่อใ้งานในรูปแบบต่างๆ อันแรกคือสายชาต์จ อันที่สองคือแคสกันน้ำ(อันนี้ล่ะตัวเหตุผลหลักที่ผมสนใจและเลือกซื้อกล้องนี้)อันที่สามคือตัวยึดติดแฮนด์จักรยาน(นี่ก็เหตุผลหนึ่งที่ผมซื้อ) อันที่สี่คือตัวยึดกับกระจกหรือคอนโซลรถยนต์รวมถึงยึดติดกับหมวกกันน็อคมอเตอร์ไซด์แต่ผมไม่ได้ลองติดกับหมวกกันน็อคมอเตอร์ไซด์นะครับ คือผมเกรงว่ามันจะปลิวไปกับแรงลมก่อน(ฮา)เพราะตัวยึดติดมันเป็นแค่ตัวยางดูดอากาศแต่ถ้าติดคอนโซลหน้ารถยนต์หรือบนหน้าปัดรถมอเตอร์ไซด์ไม่มีปัญหาเพราะผมลองติดกับรถยนต์และมอเตอร์ไซด์ของผมมาแล้วติดได้สบายๆครับ อันสุดท้ายเป็นที่ติดกับหมวกจักรยานเป็นแบบสายรัดคล้องลงในรูระบายอากาศของหมวกจักรยานผมลองดูแล้วติดได้แน่นหนาทีเดียว อ้อ..และอีกชิ้นผมลืมถ่ายภาพมาด้วยจะเป็นเคสสำหรับกล้องเพื่อติดกับอุปกรณ์ขาเสริมต่างๆ

"กล้องเมื่อใส่เคสปกติ"

"กล้องเมื่อใส่เคสกันน้ำ"


เอาล่ะครับคราวนี้เรามาลองดูประสิทธิภาพของกล้องตัวนี้คร่าวๆตามที่โรงงานระบุบมาก่อนนะครับ มันบันทึกภาพถ่ายต่างๆลงในหน่วยความจำภายนอกด้วย micro SD card รองรับได้สูงสุด32 GB ไฟล์ภาพที่ถ่ายเป็นภาพนิ่งจะเป็น JPEG ความละเอียดภาพ 5.0 Mega Pixels พร้อมระบบซูมดิจิตอล 4x พร้อมหน้าจอสีขนาด2นิ้วระบบทัชสกรีน บันทึกไฟล์วีดีโอแบบ AVI ที่ความละเอียดสูงสุด 720P ที่23-31 เฟรม/วินาทีและในระบบ VGA ที่ 640x480 Pixels ที่49-63เฟรม/วินาที ส่วนไมค์ของกล้องรุ่นนี้เป็นแบบ Built-in แปลว่ามันบันทึกเสียงได้ และมีน้ำหนักเพียง48กรัม หมดปัญหาเรื่องหนักหัวได้เลยหากเราเอากล้องไปติดบนหมวกจักรยาน สำหรับพลังงานของกล้องตัวนี้เป็นแบตแบบลิเธียมขนาด 440 mAh และเปิดบันทึกต่อเนื่องได้90นาทีหรือจนกว่าหน่วยความจำจะเต็ม เอาล่ะครับทราบรายละเอียดกันบ้างแล้วคราวนี้ไม่ต้องเสียเวลามาทดสอบประสิทธิภาพของกล้องตัวนี้เลยดีกว่าครับ ผมเริ่มจากการถ่ายภาพนิ่ง เผื่อเพื่อนๆท่านไหนที่ชอบแชลฟี่คิดว่าจะกล้องตัวนี้ไปใช้งานในการถ่ายภาพนิ่งหรือแชลฟี่ตัวเองล่ะก็มองข้ามมันไปเลยครับเพราะไฟล์ภาพที่ผมลองถ่ายออกมานั้นอยู่ในระดับกล้องมือถือยุคต้นๆ
"ไฟล์ภาพถ่ายจากกล้อง Action Camera"
"ไฟล์ภาพถ่ายจากกล้อง Action Camera"
คราวนี้เรามาลองดูประสิทธิภาพของการบันทึกด้วยเคสกันน้ำของกล้องรุ่นนี้แต่ขอบอกก่อนนะครับว่าเจ้าเคสกันน้ำตัวนี้เขาระบุบมาข้างกล่องแค่ว่า drive shooting แต่ไม่บอกว่ามันลงน้ำได้ลึกเท่าไหร่และส่วนตัวผมก็มองว่าลึกสักเมตรนี่ก็เกินคาดแล้วครับเพราะแรงดันของน้ำยิ่งลึกยิ่งมาก และเพื่อความชัดเจนว่ามันกันน้ำได้ในกรณีที่นักปั่นจักรยานทั้งหลายต้องลุยแอ่งน้ำลุยฝนที่ตกลงมาหนักๆผมจึงเอามันลงไปทดสอบถ่ายภาพในตู้ปลาขนาด24นิ้ว ซึ่งผลออกมาก็คือมันกันน้ำได้100%ครับ ไม่มีน้ำรั่วเข้าไปในกล้องตรงจุดนี้ผมว่าโอเคเลยล่ะ หลังจากนั้นผมก็ลองทดสอบบันทึกวีดีโอโดยติดไว้กับเจ้าปรอทจักรยานคันเก่งของผมโดยบันทึกในความละเอียดสูงสุดที่720p สำหรับกล้องรุ่นนี้มีระบบบันทึกวีดีโออยู่สองโหมดนะครับ นั่นคือโหมดขับรถและโหมดวีดีโอ ซึ่งจะต่างกันคือ โหมดขับรถจะสามารถบันทึกได้เพียง5นาที กล้องก็จะตัด ส่วนโหมดวีดีโอมันสามารถบันทึกต่อเนื่องได้จนกว่าแบตจะหมดหรือหน่วยความจำเต็ม ซึ่งมันก็ดีเสียต่างกันไปเพราะถ้าตัดทุก5นาทีข้อดีคือมันประหยัดพลังงาน แต่ข้อเสียคือบางครั้งมันทำให้อารมณ์เราปูดได้เพราะฟิลลิ่งมันไม่ต่อเนื่อง(ฮา) ส่วนระบบเสียงในการบันทึกก็พอใช้ได้ครับแต่ไม่ถึงกับดี และถ้าใครอยากบันทึกเสียงตัวเองขณะปั่นจักรยานก็พอจะได้แต่อย่าเอากล้องใส่เคสกันน้ำแล้วบันทึกเสียงพูดนะครับเพราะมันจะแทบจะไม่ได้ยินเสียงเราเนื่องจากเศสมันปิดสนิทด้วยยางกันน้ำทำให้เสียงพูดไกลๆลอดเข้าไปยาก หลังจากลองบันทึกและนำวีดีโอมาตัดต่อดูแล้วต้องบอกว่าคุณภาพของไฟล์ภาพไม่ว่าจะภาพนิ่งหรือวีดีโออยู่ในเกณฑ์ที่พอรับได้สำหรับการบันทึกภาพเหตุการณ์ประทับใจจากกิจกรรมที่เราชื่นชอบในราคาต้นทุนที่ไม่หนักกระเป๋าจนเกินไป

"ภาพvdoจากกล้องขณะปั่นจักรยาน"

"ภาพvdoจากการบันทึกในตู้ปลา"




วันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ปั่นจักรยานอ้อยอิ่ง ชมทุ่งดอกทานตะวัน

จั่วหัวมาแบบนี้เพื่อนๆหลายคนอาจจะคิดว่าผมไปปั่นจักรยานชมทุ่งดอกทานตะวันแถวๆลพบุรีเป็นแน่ แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ครับ เพราะที่ผมปั่นชมทุ่งดอกทานตะวันแถวๆบ้านผมในกรุงเทพนี่ล่ะไม่ได้ไปไกลถึงลพบุรีเลย(ฮา)



กรุงเทพมหานครช่วงนี้อากาศเริ่มเย็นสบายขึ้นมาบ้างทำให้การปั่นจักรยานไปทำงานตอนเช้าของผมมีความรู้สึกสบายๆ โดยเฉพาะเมื่อได้ปั่นผ่านแถวหมู่บ้านที่ผมอยู่ทำให้มีความรู้สึกว่าเฮ้ย...ถึงเราไม่มีเวลาออกไปเที่ยวต่างจังหวัดแต่เราก็มีฟิลลิ่งของต่างจังหวัดและทุ่งดอกทานตะวันด้วย เพราะที่หมู่บ้านเขาปลูกดอกทานตะวันไว้และตอนนี้พวกมันเริ่มบานรับแสงตะวันและลมหนาวทำให้ดูสดชื่นขึ้น ดังนั้นผมจึงงัดโทรศัพท์มือถือออกมาบรรเลงการถ่ายภาพทุ่งดอกทานตะวันแถวบ้านซะเลย แชะๆๆๆๆๆ หยุดพักถ่ายภาพสวยๆได้หลายภาพ อ้อยอิ่งกับสิ่งงามๆที่มี


"ผมมีเวลาที่จะอ้อยอิ่งกับ #การถ่ายภาพ อาจจะเป็นเพราะผม #ปั่นจักรยาน ทำให้สามารถมองเห็นว่า #ดอกทานตะวัน มีฝูงผึ้งมาบินวนกันเยอะมาก จนต้องจอดรถเพื่อลงมาเก็บภาพผึ้งแต่ถ้าขับรถยนต์ผมก็คงแค่ผ่านไปแล้วคิดว่าเฮ้ย...มีดอกทานตะวันด้วย"

"ผึ้งเยอะมากนะแต่ผมถ่ายไม่ทันเพราะมือถือมันไม่สามารถจับจังหวะการบินของผึ้งได้ แต่ก็ถือว่า
ได้ภาพที่พอใจระ
ดับหนึ่งล่ะ"







อันที่จริงแล้วการที่เราปั่นจักรยานบางคนมองว่ามันช้าและเสียเวลาอีกทั้งเหนื่อยต่างจากการขับรถยนต์ที่เย็นสบายกว่า แต่เชื่อหรือไม่ครับว่าการปั่นจักรยานไปทำงานหรือไปเที่ยวของผมมันไม่เคยต้องเร่งรีบต่างกับการขับรถยนต์ที่ต้องเร่งรีบไปหมดทั้งที่รถยนต์มันสามารถทำความเร็วได้มากกว่าการปั่นจักรยานแต่กลับไม่มีเวลาอ้อยอิ่งกับธรรมชาติและสิ่งต่างๆรอบตัว นั่นเพราะเมื่อเราขับรถยนต์เราก็จะกลัวรถติดกลัวว่าจะไปทำงานไม่ทัน และเรื่องจริงที่น่าแปลกที่การปั่นจักรยานไปทำงานในวันปกติของผมเมื่อเทียบกับกับการขับรถยนต์ผมกลับใช้เวลาน้อยกว่าและมีความสุขกับการอ้อยอิ่งกับสิ่งต่างๆสองข้างทางมากกว่า

จักรยานอาจจะไม่ใช่พาหนะที่เลิศหรูและรวดเร็ว แต่มันก็พาเราเดินทางไปได้แม้นมันจะไม่สะดวกสบายแต่มันก็ถึงที่หมายพร้อมกับสุขภาพที่ดีของเรา มาปั่นจักรยานกันครับ




วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2557

สถิติโลกการปั่นจักรยาน คือ26.92กิโลเมตรในหนึ่งชั่วโมง

ผมคิดว่าเพื่อนๆนักปั่นหลายท่านอาจจะหัวเราะก๊ากๆๆๆดังๆเป็นแน่ๆหากบอกว่า "ปั่นจักรยานได้ 26.92กม./ชั่วโมง หรือ16.7ไมล์" หลายท่านอาจจะมองว่าไม่เห็นจะเร็วเลยนี่หว่าและหลายท่านอาจจะหัวเราะแล้วบอกว่าไอ้พวกขาอ่อนเอ้ย...ความเร็วแค่นั้นมันไม่เฉียดสถิติโลกเลยเว้ย...แต่ถ้าผมบอกว่าคนที่ปั่นความเร็วขนาดที่เขียนมาตอนต้นน่ะ ไม่ใช่ขาอ่อนนะ แต่เป็นขาแก่เลยล่ะ(ฮา) เพราะชายเจ้าของสถิติโลกคนนี้คือโรเบิร์ดมาร์ช วัย102ปี อ่านไม่ผิดครับคุณทวดโรเบิร์ดมาร์ช อายุ 102ปี ซึ่งคุณทวดโรเบิร์ดมาร์ชนั้นบอกว่าปั่นจักรยานมาแล้ว52ปี (ผมยังไม่เกิดเลย) และทุกวันนี้ก็ยังปั่นอยู่ ดังนั้นจึงนับได้ว่าสถิติที่คุณปู่โรเบิร์ดมาร์ชได้ทำไว้นั้นคือสถิติโลกสำหรับคนที่มีอายุขนาดนี้เลยครับ และผมว่าเผลอๆคนที่ยังหนุ่มยังสาวก็อาจจะปั่นได้ไม่เร็วเท่านี้เลย




เห็นหรือยังการปั่นจักรยานมันดีอย่างไร มาปั่นจักรยานกันครับ

วันอังคารที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2557

จักรยานกับประวัติศาสตร์การเดินทาง

จักรยานกับประวัติศาสตร์การเดินทาง 
หากเราคิดเรื่องการเดินทางของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยยุคโบราณนั้น พวกเรามีการพัฒนาการเดินทางของพวกเรามาตลอด ตั้งแต่เริ่มเมื่อลืมตาออกมาดูโลกตั้งแต่มนุษย์ยุคหินพวกเราก็เริ่มพยามพัฒนาการเดินทางของเราด้วยขา แต่เมื่อเวลาผ่านไปพวกเรามีการเรียนรู้และรู้จักใช้สัตว์ต่างๆมาเป็นพาหนะในการเดินทาง และต่อมาเราก็มีการคิดค้นประดิษฐ์กรรมใหม่ๆในการเดินทาง เช่น รถจักรยาน และรถยนต์ โดยตามประวัติศาสตร์ความเป็นมาของจักรยานเริ่มตั้งแต่ สิ่งประดิษฐ์ dandy horse, หรือเรียกว่า Draisienne หรือ laufmaschine คือสิ่งที่มนุษย์ สร้างเพื่อใช้สำรับการขนส่ง โดยมีล้อเพียงสองล้อ ในลักษณะ คู่กัน และผู้ที่คิดค้นขึ้นคือชาวเยอรมันชื่อว่า Baron Karl von Drais ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกจักรยานในยุคปัจจุบัน โดยที่ Drais ได้ออกนำแสดงต่อสาธารณ ที่เมืองมันไฮม์ ในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1817 และในปารีส ในปี 1818 ผู้ขับขี่จะนั่งคร่อม บนตัวถังไม้ที่มีล้อสองล้อรองรับ และใช้เท้าถีบพื้น เพื่อให้วิ่งไปข้างหน้า และ ใช้การบังคับเลี้ยว จากล้อหน้า

เครื่องจักรเครื่องแรกที่ขับเคลื่อนด้วยล้อสองล้อ คาดว่าสร้างขึ้นโดย Kirkpatrick MacMillan, ซึ่งเป็นช่างตีเหล็กชาวสก็อตแลนด์ ในปี 1839 แม้ว่าอาจจะมีบางคนโต้แย้งเขาได้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำผิดกฎหมายจราจร เมื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์กลาสโกว์ ในปี 1842 รายงานเรื่องอุบัติเหตุ ที่ไม่ระบุชื่อ โดยมีข้อความบางส่วนว่า "สุภาพบุรุษจากเมือง Dumfries-shire... คร่อมบน velocipede... ซึ่งเป็นการออกแบบที่สร้างสรรค์" ชนกระแทกเข้ากับ เด็กหญิงตัวเล็ก ๆ ในเมือง Glasgow และถูกปรับเป็นเงินห้าชิลลิ่ง
ในช่วงต้นของปี 1860 ชาวฝรั่งเศสชื่อว่า Pierre Michaux และ Pierre Lallement ได้ทำการออกแบบจักรยานในแบบใหม่โดยการเพิ่มขาจานและบันไดสำหรับปั่นเรียกว่า crank โดยยึดติดอยู่กับล้อหน้า (the velocipede). ชาวฝรั่งเศสอีกคนหนึ่งที่คิดพัฒนาจักรยานมีชื่อว่า Douglas Grasso แต่เป็นต้นแบบที่ยังใช้ไม่ได้ของ Pierre Lallement's bicycle เมื่อหลายปีก่อนนั้น การพัฒนาจักรยานในยุคนั้นมีหลายครั้งที่พยายาม พัฒนาโดยการใช้การขับเคลื่อนจากล้อหลัง โดยรูปแบบที่รู้จักกันดีคือการขับเคลื่อนด้วยขาจานเรียกว่า velocipede ประดิษฐ์โดยชาวสก็อตชื่อว่า Thomas McCall ในปี 1869 ในปีเดียวกันนั้น ในปีเดียวกันนั้น ล้อจักรยานที่ใช้ซี่ลวด ได้ถูกจดสิทธิบัตรโดยบริษัท Eugène Meyer ในกรุงปารีส จักรยาน vélocipède ,ของประเทศฝรั่งเศสผลิตจากเหล็กและไม้ และพัฒนาจนกลายเป็น "เพนนี-ฟาร์ธิง" (ในอดีตรู้จักกันว่าเป็นต้นแบบของจักรยานในปัจจุบัน a retronym, ซึ่งไม่มีรูปแบบอื่น ๆ )มันมีจุดเด่นที่ตัวถังเป็นท่อเหล็ก ล้อที่เป็นซี่ลวดและยางตัน จักรยานรูปแบบนี้ ขับขี่ยากเพราะว่าเบาะนั่งที่อยู่สูงและ ต้องอาศัยการทรงตัวอย่างมากเพราะว่าการกระจายน้ำหนัก ที่ยังไม่ดีเท่าที่ควร ในปี 1868 Rowley Turner พนักงานขายของบริษัท Coventry Sewing Machine Company (ในเวลาต่อมาได้กลายเป็นบริษัท Coventry Machinist Company) ได้ซื้อ Michaux cycle to คอเวนทรี, ประเทศอังกฤษ. โดยลุงของ, Josiah Turner, และมี James Starley, เป็นหุ้นส่วนทางธุรกกิจ จากสิ่งนี้ทำให้ 'Coventry Model' ได้กลายเป็นโรงงานที่ผลิตจักรยานแห่งแรกของประเทศอังกฤษ

การแก้ไขข้อบกพร่องบางส่วน โดยการลดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของล้อหน้าลง และ ตั้งค่าอานที่นั่งโดยการเลื่อนออกไปด้านหลังมากขึ้น ในที่สุดแล้ว ก็ต้
องมีการใช้การทดเกียร์ ซึ่งส่งผลกระทบหลสยอย่าง ในการออกแรงกดบันได การที่มีทั้งบันไดและ การบังคับเลี้ยวผ่านล้อหน้ายังคงมีปัญหาอยู่ J. K. Starley (เป็นหลานของ James Starley), J. H. Lawson, และ Shergold ได้แก้ปัญหานี้โดยเสนอให้ใช้ การขับ
เคลื่อนผ่านโซ่ ( "bicyclette" ของ Englishman Henry Lawson เคยมีการนำมาใช้ก่อนหน้านี้แต่ไม่ประสบความสำเร็จ )โดยการเชื่อมขาบันไดจานหน้าและโครงรถเข้ากับล้อหลัง ซึ่งโครงสร้างแบบนี้รู้จักกันในชื่อ safety bicycles, dwarf safeties, or upright bicycles มีการลดความสูงของเบาะนั่งลง เพื่อกระจายน้ำหนักที่ดีขึ้น การที่ยังไม่มีการใช้ล้อยางแบบเติมลม การขับขี่บนล้อ ขนาดเล็กลงจะรู้สึกถึงความแข็งกระด้างของพื้นทางมากกว่า ล้อขนาดใหญ่ ในปี 1885 บริษัท Starley's Rover ก่อตั้งขึ้นในโคเวนทรี (Coventry)ได้แสดงรูปแบบของจักรยานสมัยใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีการเพิ่มท่อตั้งเข้าไปกลางโครงรถ ทำให้เกิดโครงรถรูปแบบ สามเหลี่ยมสองอันประกบกัน หรือที่เรียกว่า ไดมอนด์เฟรม
นวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นเพิ่มความสะดวกสบาย และเกิดความนิยมใช้จักรยาน ในปี 1890 ถือเป็นยุคทองของจักรยาน ในปี 1888, John Boyd Dunlop ชาวสก็อต ได้เสนอการใช้ล้อที่มียางและมีลมข้างในขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อมาได้ใช้กันอย่างกว้างขวาง ในช่วงเวลาต่อมา ฟรีล้อหลัง ได้ถูกนำมาใช้ ซึ่งทำให้ผู้ขับขี่ใช้งานง่ายขึ้น การประดิษฐ์นี้ ทำให้เกิด เบรกแบบโคสเตอร์ คือการหมุนบันไดกลับหลังเพื่อเบรก ในปี 1890s ตัวสับเกียร์ และตัวบังคับที่แฮนด์ สายเคเบิลแบบมีปลอก ใช้เพื่อดึงเบรก ได้ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงนั้นเช่นกัน แต่ยังคงไม่ได้นำมาใช้กับรถจัรยานทั่ว ๆ ไป ในช่วงทศวรรตนั้น กลุ่มนักปั่นจักรยาน มีเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งสองฝั่งของทะเล แอทแลนติก ทั้งการใช้งานในรูปแบบ ปั่นเพื่อ ท่องเที่ยวและ ปั่นเพื่อการแข่งขัน ซึ่งต่อมาได้รับความนิยม และขยายวงขึ้นอย่างกว้างขวาง
**ขอขอบคุณข้อมูลจักรยานจากwiki**

ดังนั้นเราจะเห็นว่าจักรยานคือยานพาหนะที่มีมาอย่างยาวนาน และถือกำเนิดก่อนรถยนต์คัดแรกของโลก (รถยนต์ที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงเผาไหม้คันแรกของโลกสร้างโดย Karl Benz ในปี1886) การใช้จักรยานเดินทางหรือทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ มันคือเรื่องเก่าที่มีมานานมากแล้วแต่เราหลงลืมมันไปและวันนี้มีกระแสตีกลับของสังคมโลกเรื่องของการใช้พลังงานที่สะอาดและการลดการใช้พลังงานที่จะส่งผลกระทบกับโลกใบนี้ของเรา รวมถึงเรื่องของสุขภาพ จักรยานจึงถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้งและเป็นที่ยอมรับอย่างรวดเร็ว เพราะโลกคุ้นเคยกับจักรยานมานานแล้วนั่นเอง



วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

จักรยานกระดาษ Cardboard Bike

มีคนเคยถามผมว่าทำไมผมถึงมาปั่นจักรยาน อะไรทำให้ผมมาหลงชื่นชมการปั่นจักรยานบนท้องถนนแทนที่จะขับรถยนต์หรือซิ่งมอเตอร์ไซด์เหมือนเดิมๆ มันก็คงเพราะจักรยานมันมีเสน่ห์มีอะไรให้เราหลงใหล และอีกอย่างที่ผมมองก็คือจักรยานมันเป็นงานศิลปะผมชอบเพราะมันเป็นงานศิลปะที่เก่าแก่สวยงามที่อาศัยโครงเส้นของเหล็กมาเชื่อมต่อทำเป็นเฟรมที่สวยงามและยังสามารถใช้เป็นพาหนะเดินทางได้อีกด้วย


จักรยานนั้นมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องและอย่างหนึ่งที่จักรยานมีการพัฒนาคือ วัสดุที่ใช้ในการผลิด เพราะจักรยานต้องอาศัยแรงกำลังขาของมนุษย์ในการปั่นดังนั้นวัสดุที่นำมาทำจักรยานจึงควรมีน้ำหนักเบาที่สุดแต่ต้องแข็งแรงทนทาน เราจึงได้เห็นจักรยานพัฒนาเรื่องวัสดุที่จากเหล็ก มาเป็นอลูมิเนียม และมาเป็นคาร์บอน

แต่ที่ผมเอามาเขียนในคราวนี้เป็นจักรยานนี้ถูกพัฒนาและสร้างMr. Izhar Gafni ซึ่งเป็นวิศวกรเครื่องกล ชาวอิสราเอล โดยเขามีความคิดจะนำวัสดุที่พบบ่อยๆมากๆนั่นคือ"กระดาษแข็ง" หรือ Cardboard อย่าสับสนนะครับมันไม่ใช่ Carbon อย่างที่นักปั่นจักรยานคุ้นเคย โดยเขาได้คิดค้นวิธีการพับกระดาษและการติดกาวและทาสารเคลือบผิวเพื่อให้มันมีความทนทานและกันน้ำได้ และสามารถรับน้ำหนักได้ถึง 200กิโลกรัม ซึ่งตอนนี้มันยังคงเป็นจักรยานต้นแบบในลักษณะของจักรยาน fixed-gear ซึ่งต่อไปก็คงจะมีการพัฒนาเพิ่มเติมส่วนอนาคตจะมีการผลิตเชิงพาณิชย์หรือไม่อันนี้ยังไม่แน่ชัดแต่เห็นแล้วมันก็เจ๋งไม่ใช่เล่นเลยใช่ไหมล่ะครับ เอาล่ะครับมาลองชมคลิปการสร้างจักรยานจากกระดาษแข็งกันดีกว่าครับ




วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ชายผู้ปั่นจักรยานเที่ยวรอบโลก มากกว่า500,000กิโลเมตร

ใกล้จะปีใหม่แล้วผมก็เลยเอาคลิปการปั่นจักรยานเที่ยวมาให้ชมกันสำหรับคนที่ชื่นชอบการปั่นจักรยานแบบทัวร์ริ่ง คลิปนี้ไม่มีโชว์รถนะครับแต่เป็นคลิปสัมภาษณ์ Frank van Rijn อาจารย์และนักเขียนชาวดัสซ์ ที่หลงรักการเดินทางท่องโลกด้วยจักรยานมากกว่า500,000กม.และปั่นจักรยานเที่ยวมาแล้วทุกทวีปทั่วโลกยกเว้น ทวีปแอนตาร์กติกา ที่เขายังไม่ได้ปั่นจักรยานไปท่องเที่ยว แหมก็ทวีปนี้มันหนาวหฤโหดขนาดนั้นคุณลุงแกคงไม่รุ้จะเที่ยวดูอะไร(ฮา) ลองดูกันครับผมว่านั่งฟังแล้วได้ความรู้เหมือนกันนะ และโดยส่วนตัวผมหวังว่าสักวันผมจะมีปัญญาทำแบบเขาบ้างแต่ไม่ถึงขั้นปั่นไปทั่วโลกหรอกแค่ประเทศไทยนี่ล่ะตั้งใจว่าจะปั่นไปเที่ยวตอนนี้ก็เริ่มกางแผนที่วางแผน เก็บเงิน หาเวลาเพราะการเดินทางท่องเที่ยวด้วยจักรยานมันต้องใช้เวลามากกว่าการเดินทางด้วยรถยนต์หรือมอเตอร์ไซด์ ดังนั้นเรื่องเวลานานๆหลายๆวันมันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดและสำหรับผมแค่ได้ปั่นเที่ยวประเทศไทยของเราแค่นี้ผมก็ปลื้มสุดๆแล้วแถมยังลดพุงแถมหุ่นดีสมใจอีกต่างหาก(ฮา)

คลิปตอนที่1


คลิปตอนที่ 2




วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ตามหาทางจักรยาน

วันนี้มาปั่นตามหาทางจักรยาน



เจอบ้าง ไม่เจอบ้าง ทางหายบ้าง เป็นหลุมเล็กบ้างใหญ่บ้าง โดนขวางบ้าง เจอป้าย...เฮ้ยป้ายมีใบงอกออกมาด้วย ปั่นมาเจอทางเชื่อม เอ้า...งามไส้ ร้านก๋วยเตี๋ยวแกตั้งเต็มเลน หลบร้านก๋วยเตี๋ยวได้ กลับเข้าเลนจักรยาน อ่า...เจอรถจอขวางทาง ปั่นๆไปอ้าว!!นี่มันถนนร้านขายต้นไม้นี่หว่า

ทางจักรยานของประเทศไทยจำเป็นไหม...ถ้าถามผมในฐานะที่เป็นคนใช้จักรยานเดินทางในชีวิตประจำวัน มันก็จำเป็นแต่ไม่ถึงขั้นต้องไปลงทุนเป็นเมกะโปรเจคอะไร แค่ปรับพื้นที่บางส่วน เช่นทางเท้าหรือถนนหลักให้จักรยานสามารถใช้ได้ อย่าให้ฟุตบาทเป็นพื้นที่จับจองทำการค้าถาวรหรือวางป้ายโฆษณา เสาไฟ หรือแม้นแต่การจัดสวนหย่อมบนทางเท้าก็ไม่รู้จะจัดกันทำไมมันกีดขวางทั้งคนเดินเท้าและคนปั่นจักรยาน ถนนหลักก็เพียงแค่ปรับขอบเขตให้จักรยานสามารถใช้ทางได้อย่างปลอดภัย ไม่ต้องถึงขั้นไปไล่ที่รถยนต์เขาหรอกอันนั้นมันก็เวอร์ไป แค่ปรับและส่งเสริมทำความเข้าใจให้ผู้ใช้ถนนอย่างรถยนต์หรือมอเตอร์ไซด์ได้รับรู้ว่าเลนซ้ายสุดด้านนี้เป็นพื้นที่จักรยานเขาจะใช้ร่วมกับคุณ อย่ามาละเมิดหรือกีดขวางก็เท่านั้น

ประเทศไทยมันไม่ต้องเยอะ ไม่ต้องเวอร์ ไม่ต้องทำอะไรให้มันมากมายหรอก ผมเขียนในฐานะที่ผมเดินทางด้วยจักรยาน ปั่นไปทำงานจากบ้านไปถึงที่ทำงานไปกลับวันหนึ่งร่วมๆ40กิโล ผมไม่อยากได้อะไรที่วุ่นวายแค่อยากให้สังคมเข้าใจว่าจักรยานสามารถใช้เดินทางได้ในชีวิตประจำวัน ผมไม่ได้เรียกร้องว่าต้องมาทำเมกะโปรเจคทางจักรยาน ไล่ที่รถยนต์เอามาสร้างเลนจักรยาน อย่าไร้สาระขนาดนั้นเลยเพราะคนใช้จักรยานในชีวิตประจำวันจริงๆมีไม่มากหรอกครับ แค่อยากให้รัฐหันมาปรับปรุงพื้นที่ที่มีอยู่ให้ดีขึ้น กวดขันเรื่องการตั้งสิ่งของหรือสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำทางเท้า ปรับปรุงเข้มงวดเรื่องกฎหมายจารจรกับผู้ที่ขับรถและจอดกีดขวางขอบทาง เอาแค่ง่ายๆแบบนี้ก่อนครับ อย่าไปคิดหาเมกะโปรเจคผลาญงบประมาณกันเลย




อย่าไปมองว่าต่างประเทศเขาทำอะไรเพราะประเทศเราเพิ่งตื่นตัวเรื่องจักรยานมาไม่นานทั้งที่จริงจักรยานในประเทศเราก็เข้ามาพร้อมๆกับรถยนต์ในสมัยรัชกาลที่5 แต่เราไม่ได้เน้นเรื่องจักรยานแต่เราเน้นรถยนต์ ดังนั้นระยะเวลาที่ผ่านมาร้อยกว่าปีที่เราปูโครงสร้างพื้นฐานให้รถยนต์อยู่ๆจะมาเปลี่ยนเป็นจักรยานมันไม่ง่ายอย่างนั้นหรอกครับ อย่าตื่น อย่าบ้าจี้ไปกับกระแสแฟชั่นของคนกลุ่มหนึ่งจนไปลุกล้ำสิทธิของคนที่เป็นโครงสร้างหลักในการจารจร เอาเป็นว่าทางจักรยานควรมีไหม มันควรจะมี แต่ยังไม่ถึงขั้นต้องปรับทุกอย่างรื้อทั้งระบบ เอาแค่พื้นฐานกวดขันเรื่องระเบียบวินัยจารจร ดูแลปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่ประยุกตให้จักรยานสามารถใช้ร่วมได้โดยไม่เกิดอันตราย คนที่ใช้จักรยานจริงๆในชีวิตประจำวันต้องการแค่นี้ล่ะครับ พวกเราไม่ต้องการทางจักรยานเพื่อปั่นแข่งขัน ปั่นแว้นกันเป็นแก๊งค์หรือไว้เป็นถนนโชว์รถ เราต้องการแค่เส้นทางที่สะดวกและปลอดภัยเพื่อใช้ในการเดินทางสัญจรในชีวิตประจำวันจริงๆ








วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ปั่นๆยกๆ เรื่องเล็กๆของนักปั่นขี้บ่น


ปัญหาของคนเมืองบางกอกสำหรับนักปั่นจักรยานหลายคน ซึ่งมักจะบ่นท้อแท้ไม่อยากปั่นจักรยานก็เพราะต้องข้ามสะพานลอย ที่จริงมันไม่ใช่เรื่องยุ่งยากหรอกครับถ้าคุณจะข้ามสะพานลอยในเมืองบางกอกเพราะส่วนมากคนที่ใช้จักรยานก็จะรู้ว่าจักรยานคุณน้ำหนักเท่าไหร่ ร้อยหรือสองร้อยกิโล เฮ้ย...ไม่ถึงเนอะ(ฮา) ส่วนมากจักรยานมันก็หนักราวๆ20กิโลไม่เกินกว่านี้ นี่เป็นจักรยานธรรมดาๆที่เรียกกันว่าจักรยานแม่บ้านนั่นล่ะครับ ไม่ใช่จักรยานไฟฟ้าe-bike เพราะแบบนั้นบางคันอาจจะหนักได้ถึง25กิโล ส่วนพวกจักรยานเทพๆราคาแพงๆน่ะน้ำหนักทั้งคันไม่ถึง10กิโลด้วยซ้ำไป บางคันหนักแค่4-5กิโล ดังนั้นถ้าคุณมาปั่นจักรยานในบางกอกแล้วจำต้องข้ามถนนด้วยสะพานลอยก็แค่ยกมันข้ามไปครับ เพราะรถน้ำหนักไม่เกิน20กิโลมนุษย์ปกติสามารถยกได้ครับเพราะคนเราโดยหลักแล้วมีความสามารถในยกน้ำหนักได้เกือบเท่าน้ำหนักตัวเอง ยกเว้นคุณเป็นพวกโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง(ALS) แต่ถ้าเอาตามหลักกฎหมายแรงงานในการทำงานแรงงานของประเทศไทยกำหนดไว้ว่าผู้ชายสามารถยกของหนักในการทำงานได้ครั้งละ55กิโล ส่วนผู้หญิงจะยกได้25กิโล ซึ่งนี่หมายถึงการทำงานแบกหามต่อเนื่องทั้งวันๆและ8ชั่วโมงนะครับไม่ใช่ยกเดินวันละไม่กี่ก้าว ไม่กี่นาทีแบบยกจักรยานข้ามสะพานลอย ดังนั้นหากเราจำเป็นต้องปั่นจักรยานในบางกอกหากเจอทางแยกที่ต้องข้ามถนนถ้าไม่มีทางม้าลายหรือทางแยกไฟแดงให้เราข้ามได้ก็ยกขึ้นสะพานลอยสิครับมันจะยากตรงไหน? ยิ่งพวกใช้รถเทพๆด้วยแล้วน้ำหนักเบาหวิวยกมือเดียวสบายๆทำไมมันถึงยกไม่ได้ครับ มันยากลำบากอะไร? ส่วนวิธีการยกก็มีหลายวิธีครับ ผมไม่ทราบว่าเป็นวิธีที่ถูกต้องที่สุดหรือไม่แต่ผมจะทำแบบนี้

วิธีแรก วิธีมักจะใช้กับจักรยานแม่บ้านหรือจักรยานที่ไม่มีท่อกลางหรือจักรยานพับโดยจับที่แฮนด์จักรจักรยานด้วยมือข้างหนึ่ง ส่วนอีกข้างจับบริเวณปลายท่อนั่งบริเวณบันไดนั่นล่ะครับ แล้วยกขึ้น แบบนี้ถ้ายกข้ามเนินเตี้ยๆหรือทางสะพานที่ไม่ชันมากก็สบายๆ แต่ถ้ายกข้ามสะพานลอยถ้าคุณยกได้ไม่สูงพอบางครั้งล้ออาจจะติดกับบันไดสะพานลอยได้ ดังนั้นก็ยกให้สูงเล็กน้อยแล้วอาจจะใช้วิธีเอียงรถขณะยกเล็กน้อยเพื่อเบี่ยงล้อจักรยานให้พ้นแนวของบันไดสะพานลอยแต่อย่าเบี่ยงไปเยอะนะครับเดี๋ยวจะไปขวางทางคนอื่นเขา

วิธีที่สอง แบกขึ้นบ่าครับวิธีผมใช้ประจำ สำหรับจักรยานพวกเสือๆทั้งหลายไม่ว่าจะเสือหมอบ เสือภูเขา เสือผสมอย่างไฮบริด รถพวกนี้มันจะมีคานท่อกลางก็แค่สอดแขนเข้าไปยกแบบขึ้นไหล่แล้วก็แบกเดินข้ามสะพานลอยแบบตัวปลิวๆได้เลย ยิ่งพวกรถเทพน้ำหนักเบาๆนี่ยิ่งสบายบรื่อ ส่วนจักรยานแม่บ้านอาจจะยกวิธีนี้ไม่ได้ก็ต้องใช้วิธีแรกแทน

แต่ถ้าการข้ามสะพานลอยในบางจุดของเมืองบางกอกเขาก็จะทำรางน้ำฝน เอ้ย...ไม่ใช่!!รางเข็นรถจักรยานไว้ให้สำหรับเข็นขึ้นไป วิธีเข็นคือให้เอาบันไดมาอยู่ในแนวระนาบกับพื้น จากนั้นก็ยกรถขึ้นไปวางในรางแล้วก็เอียงรถประมาณ25-30องศาในขณะที่เข็นขึ้น ซึ่งอาจจะยุ่งยากเล็กน้อยสำหรับคนไม่คุ้น และหลายคนก็ไม่ทราบวิธีก็เลยเข็นขึ้นไม่ได้เพราะบันไดจักรยานจะติดกับราวสะพานลอย

"ยกจักรยานลงสะพานก็ใช้วิธีเดิมเหมือนยกขึ้นมาครับ "

"ยกข้ามสะพานลอยสำหรับผมๆว่ามันปลอดภัยกว่าปั่นข้ามถนน"
เห็นไหมครับวิธีการใช้จักรยานเดินทางในเมืองบางกอกอย่างกรุงเทพทำไมมันจะทำไม่ได้ มันทำได้และไม่ได้มีข้อจำกัดอะไรเลย ทุกอย่างมันอยู่ที่เราต่างหาก ผมเองทุกวันนี้ใช้จักรยานเดินทางสัญจรในชีวิตประจำวันใก้ลบ้างไกลบ้างและผมได้เห็นชัดกับตัวเองแล้วว่า ข้ออ้างที่บอกว่าปั่นจักรยานในเมืองทำไม่ได้น่ะ ไม่จริง เพราะมันทำได้และคนที่พูดแบบนั้นส่วนมากก็ไม่ใช่คนที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันจริงๆ แต่อาจจะมีจักรยานและปั่นบ้างในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือเวลาไปรวมกลุ่มกับเพื่อนๆตามสถานที่ต่างๆหรือตามงานอีเว้นท์โชว์จักรยาน แต่ถ้าถามว่าทุกวันนี้พวกเขาเดินทางไปทำงานด้วยอะไรหรือเดินทางมาร่วมงานจักรยานต่างๆพวกนี้อย่างไร ซึ่งส่วนมากจะได้ยินคำตอบว่า "เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว" 


วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

เติมน้ำมันให้จักรยาน

"เติมน้ำมันให้จักรยาน"

เวลาที่ผมอ่านหนังสือหรือเปิดเวบไซด์ต่างๆและพบกับบทความแนะนำแหล่งท่องเที่ยวโดยการปั่นจักรยานไปเที่ยวที่นั่นที่โน่นไปตลาดนั้นตลาดนี้ไปปั่นสนามนั้นสนามนี้ผมเองก็เข้าใจว่าเขาต้องการเขียนข่าวเพื่อประชาสัมพันธ์สถานที่นั้นๆหรือเพื่อเหตุผลการค้าหรือเหตุผลอื่นๆก็ตามที แต่ผมไม่เข้าใจเลยว่าเวลาอ้างถึงจักรยานที่ใช้พลังงานมนุษย์ขับเคลื่อนทำไมต้อง "เติมน้ำมันให้จักรยาน"


เติมน้ำมันให้จักรยานผมว่าหลายๆคนอาจจะงงกับคำๆนี้ของผม เพราะจักรยานมันเป็นยานพาหนะที่ไม่ต้องเติมน้ำมันแค่เติมแรงของเราลงไปมันก็วิ่งได้แล้ว มันเหมือนขาของเราคือลูกสูบทำหน้าที่สูบพลังงานเพื่อขับเคลื่อนล้อรถจักรยานนั่นเอง แล้วทำไมเราต้องเติมน้ำมันให้จักรยาน หรือผมจะหมายถึงการเติมน้ำมันหยอดโซ่จักรยานหรือเปล่านะคำตอบก็คือไม่ใช่ครับ แต่มันเกี่ยวกับเรื่องความเข้าใจในเหตุผลที่นำมาอ้างกันแบบโลกสวยว่าฉันรักการปั่นจักรยาน ปั่นเพื่อสุขภาพ ปั่นเพื่อลดโลกร้อน ปั่นเพื่อรักษ์โลก ปั่นเพื่อลดคาร์บอนไดออกไซด์บลาๆๆๆ แล้วแต่คำอ้างสวยหรูที่เอามาใช้เอามาแชร์กัน แต่จริงๆมันใช่หรือเปล่า?

มาลองทำความเข้าใจกับความหมายของคำว่า "เติมน้ำมันให้จักรยาน" มันก็เริ่มมาจากเวลาที่เราบอกว่าเราไปปั่นจักรยานที่นั่นโน่นนี่ มันก็ต้องย้อนกลับครับว่า"ไปกันอย่างไร?" ลองทบทวนกันดูไหมครับ หลายครั้งที่ผมเห็นบทความหรือโพสต์ต่างๆในโลกออนไลน์มันจะเป็นลักษณะนี้ "ฉันไปปั่นจักรยานเที่ยวที่นั่นที่โน่นมานะ โอ๊ยสวยๆๆมากๆ เวลาปั่นแล้วมันรู้สึกสดชื่นเข้ากับธรรมชาติจัง ดีใจที่ได้เที่ยวด้วยพลังจากตัวเราเอง ปั่นจักรยานเที่ยวแบบนี้แล้วเป็นการช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาตินะจ๊ะ"...โอ๊ะๆๆๆหยุดก่อน!!จริงหรือครับ ใช่จริงหรือ ไม่โกหกตัวเองโกหกโลกนะ...เพราะผมเห็นหลายครั้งว่าผู้ที่ไปปั่นจักรยานแบบนั้นพวกเขาขับรถยนต์ไปตามสถานที่นั้นๆเอาจักรยานใส่ท้ายรถไปพอขับรถไปถึงก็จอดแล้วขนจักรยานลงมาปั่นแล้วก็เซลฟี่หน้าตัวเองก็อ้างว่านี่คือกิจกรรมปั่นเพื่อสุขภาพและอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม มันก็เหมือนหลายกิจกรรมจักรยานที่บอกมาปั่นลดโลกร้อนกันเถอะบลาๆๆๆ แต่สุดท้ายทั้งคนจัดงานทั้งคนไปร่วมงานทั้งสื่อมวลชนก็แห่กันขนจักรยานใส่รถยนต์เพื่อไปร่วมกิจกรรมและถ่ายภาพหมู่โดยพร้อมเพรียม (ฮา...ไม่ออกเลย)


ผมมีคำแนะนำสำหรับคนที่เป็นผู้ที่อยากอนุรักษ์การใช้พลังงานฟอลซิลจริงๆ ผู้ที่อยากลดคาร์บอนให้โลกใบนี้จริงๆ และผู้ที่อยากออกกำลังกายเพื่อสุขภาพจริงๆลองทำแบบนี้ดูครับถ้าคุณอยากไปเที่ยวที่ไหนถ้าไม่ไกลสามารถปั่นจักรยานไปได้ก็ให้ปั่นไปครับแต่ถ้าระยะทางมันไกลก็ต้องมาคำนวณกันผมจะยกตัวอย่างระยะทางประมาณ200กิโล ให้คุณลองถามตัวเองครับว่าคุณปั่นจักรยานได้ระยะทางเท่าไหร่โดยไม่หยุดและเริ่มรู้สึกเหนื่อย ยกตัวอย่างถ้าคุณปั่นได้ระยะทางต่อเนื่อง20กิโลจึงเริ่มเหนื่อย ก็ให้คุณปั่นแล้วพักทุกๆ20กิโลก็หมายความว่าระยะทาง200กิโลคุณจะพักประมาณ10ครั้ง แต่ถ้าคุณพลังเยอะสามารถปั่นยิงยาวๆแบบ40-50กิโลได้ ก็ไปพักที่ช่วงนั้น ซึ่งมันก็เท่านั้นเองในการปั่นจักรยานเที่ยววิธีการที่ผมแนะนำนี้ไม่ใช่วิธีการปั่นจักรยานแข่งขันนะครับแต่เป็นการปั่นจักรยานเที่ยวโดยให้คุณรู้จักการใช้แรงของคุณอย่างฉลาดเพื่อไม่ให้เหนื่อยและล้าเกินไป ส่วนอีกวิธีหากคุณบอกฉันไม่อยากปั่นไกลๆกว่าจะไปถึงหมดแรงหมดอารมณ์เที่ยวก็ลองใช้บริการขนส่งมวลชนครับจะใช้รถไฟ รถทัวร์ ก็ลองไปสถามเจ้าหน้าที่ว่ามีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ในการนำจักรยานไปด้วย เพราะถ้าคุณเที่ยวแบบนี้ไแบบนี้มันก็เป็นการลดการใช้พลังงานฟอลซิลแบบส่วนตัวได้จริงๆอย่างที่ปากคุณอ้าง

ส่วนผู้ที่ต้องการออกกำลังกายก็ไม่จำเป็นต้องเติมน้ำมันให้จักรยานโดยเอาใส่ท้ายรถไปปั่นตามสถานที่ต่างๆเพื่อเซลฟี่หน้าตัวเองหรอกครับ ปั่นแถวบ้านคุณนั่นล่ะแล้วถ้าคุณอยากจะออกกำลังกายจริงๆก็ลองหาเส้นทางปั่นในตรอกซอกซอยบริเวณที่พักของคุณโดยให้ระยะเวลาในการปั่นต่อเนื่องอย่างน้อยๆ30นาที เพราะน้อยกว่านี้มันไม่ช่วยเรื่องการเผาผลาญพลังงานอะไรแต่บางท่านอาจจะบอกว่าปั่นแถวบ้านมันไม่สนุกไม่มีอะไรน่าสนใจก็แนะนำว่าให้คุณปั่นและมองหาสถานที่ๆไม่เคยเข้าแวะดูสถานที่ๆปกติถ้าคุณขับรถยนต์คุณจะผ่านไปโดยไม่ได้สนใจมันแต่ตอนนี้เมื่อคุณปั่นจักรยานคุณก็ลองเข้าไปปั่นในส่วนนั้นดูและคุณอาจจะได้เห็นมุมมองใหม่ๆเรื่องราวใหม่ๆที่คุณอาจจะไม่เคยรู้เพียงแค่นั้นคุณก็ได้ปั่นออกกำลังกายได้เที่ยวและยังได้เซลฟี่หน้าตัวเองโดยวิวรอบข้างไม่ซ้ำซากกับใครๆ(ฮา)


การเอาจักรยานใส่รถยนต์แล้วขับไปตามสถานที่ต่างๆไปปั่นโชว์ ไปแค่รวมกลุ่มถ่ายภาพแล้วก็เอาจักรยานมาใส่รถขับกลับบ้านหรือขับไปเที่ยวไปสังสรรค์กันต่อ แบบนี้ล่ะครับที่ผมเรียกว่า"เติมน้ำมันให้จักรยาน"เพราะมันไม่ใช่การใช้จักรยานเป็นพาหนะเดินทางเพื่อลดการใช้พลังงานฟอลซิลอะไรทั้งนั้นแต่ก็แปลกที่เวลาถามผู้ที่หันมาปั่นจักรยานหลายๆครั้ง หนึ่งในคำตอบยอดเท่+ยอดฮิตก็คือ"ปั่นจักรยานเพื่อลดโลกร้อน เพื่อลดการใช้พลังงาน" แต่ในความเป็นจริงนอกจากพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้ช่วยลดภาระโลกร้อนหรือการใช้พลังงานฟอลซิลแต่พวกเขากลับเพิ่มภาระการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นเพราะการบรรทุกรถจักรยานไปกับรถยนต์ถึงแม้นจะมีข้อโต้แย้งว่าจักรยานน้ำหนักเบาแต่การเพิ่มน้ำหนักบรรทุกโดยสิ่งของที่ไม่จำเป็นเท่ากับเป็นการเพิ่มภาระให้เครื่องยนต์ทำงานหนักขึ้นและใช้พลังงานมากขึ้น ขอร้องล่ะ อย่าใช้คำพูดที่สวนทางกับการกระทำเลยครับ


EZ noneny AD