วันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ทางจักรยานจำเป็นแค่ไหน

เมื่อก่อนผมก็ไม่ใช่คนที่ใช้จักรยานเดินทางจะมีก็แค่ปั่นๆเล่นแถวๆบ้าน แต่เมื่อผมเริ่มมาใช้จักรยานในชีวิตประจำวันแทนการใช้รถยนต์และรถมอเตอร์ไซด์ที่ใช้อยู่เป็นประจำและหันมาปั่นจักรยานไปทำงาน ปั่นไปหาเพื่อน ปั่นไปเที่ยวห้าง ปั่นไปโน่นนี่นั่น ปั่นมันไปเรื่อยเปื่อยจนเวลานี้จักรยานได้กลายเป็นพาหนะประจำในการเดินทางของผมไม่ว่าใกล้หรือไกล
"น้องฟ้า พาหนะคู่ใจของผม ใช้จนคุ้มเกินราคาค่าสินสอดไปแล้ว"
ผมไม่ใช่นักปั่นระดับเทพแต่จากการที่ผมได้ปั่นจริงๆจังๆบนถนนหลวงทุกวันมากว่าการปั่นแค่เป็นแฟชั่นหรือแค่จับกลุ่มปั่นเที่ยว ทำให้ผมเข้าใจที่จะเรียนรู้อะไรบางอย่างเกี่ยวกับการใช้จักรยานบนท้องถนนในเมืองกรุงและมีหลายครั้งที่ผมได้ยินคนพูดคุยเรื่องทางจักรยานและการที่ผมปั่นจักรยานไปทำงาน40กิโล/วันในช่วงเริ่มต้นแต่ตอนนี้เส้นทางปั่นในแต่ละวันมันเลยเถิดเกินไปกว่า40กิโลไปเยอะเพราะผมเริ่มปั่นออกนอกเส้นทางมากขึ้นและไกลขึ้นในทุกๆวันมันทำให้ผมมองเห็นว่าเส้นทางจักรยานมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนในกรุงเทพมหานครแห่งนี้

"เส้นทางจักรยาน"
เส้นทางจักรยานในความรู้สึกแวบแรกของผมคือมันสะดวกสบายดีทำให้เรานักปั่นเมืองมีความปลอดภัยมากขึ้นจากการที่เรามีช่องทางเดินรถของเราไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับรถยนต์บนถนน ดังนั้นสรุปง่ายๆว่า การมีเส้นทางจักรยานนั้นย่อมดีกว่าไม่มี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการที่ถนนไม่มีเส้นทางจักรยานมันจะทำให้เราไม่สามารถปั่นไปไหนมาไหนได้เพราะที่จริงแล้วผมมองว่าหากเราจะใช้จักรยานเป็นพาหนะเดินทางจริงๆจังๆในชีวิตประจำวันเราก็สามารถปรับตัวได้ ไม่ได้ยุ่งยากอะไรเลย ทำไมผมเขียนแบบนี้น่ะหรือก็เพราะทุกวันนี้เส้นทางที่ผมใช้ปั่นไปทำงานมันไม่มีทางจักรยานน่ะสิครับ แต่ผมก็สามารถปั่นได้ไม่ว่าแดดจะออกหรือฝนจะตกเพื่อนๆผมเขาบอกที่ผมปั่นจักรยานทนแดดได้ทนฝนได้เพราะผมหนังหนาขี่มอเตอร์ไซด์ตากแดดโต้ลมมาเป็นสิบๆปีแล้วนี่หว่า(ฮา)
"คนขายล็อตเตอรี่(ภาพจากอินเตอร์เน็ต)"
อันที่จริงผมอยากจะให้มองแบบนี้นะครับคนที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันหากเรามองดูเราจะเห็นว่ากลุ่มหลักๆไม่ใช่พวกจักรยานแฟชั่นหรือพวกนักปั่นขาแรงแข่งขันทั้งหลายแต่เป็นคนธรรมดาสามัญที่ต้องทำมาหากิน อย่างคนขายล็อตเตอรี่ คนปั่นซาเล้ง คนขายพวกมาลัยและอีกมากมายที่ต้องใช้จักรยานในการเดินทางและประกอบอาชีพคนเหล่านี้ล่ะครับคือคนที่ใช้รถจักรยานบนถนนตัวจริงแต่พวกเขากลับไม่เคยเรียกร้องอะไร พวกเขาอยู่อย่างเจียมตัวและเรียนรู้ที่จะปรับตัวเองให้เข้ากับสังคมมากกว่ามาตะโกนบอกให้สังคมปรับตัวมาหาพวกเขาดังนั้นการปั่นจักรยานผมจึงไม่ได้มุ่งนับระยะทางหรือความเร็วในการปั่นแต่ที่ผมนับคือคุณเดินทางด้วยจักรยานอย่างจริงจังมากแค่ไหนบ่อยแค่ไหนเพราะการจะให้กทม.หรือรัฐมาสร้างทางจักรยานนั้นไม่ว่าจะสร้างแบบไหนปรับตรงไหนมันต้องใช้เงินทั้งนั้น ดังนั้นต้องถามก่อนว่ามันคุ้มแค่ไหนที่จะต้องมาทุ่มเงินงบประมาณเพื่อสร้างทางจักรยานและอย่าอ้างเรื่องสุขภาพเรื่องมลพิษเรื่องสิ่งแวดล้อมให้มันดูเท่บ้าๆบอๆเลยครับไม่ใช่ผมไม่เห็นด้วยนะกับเรื่องพวกนี้เพราะผมน่ะก็พวกบ้าสิ่งแวดล้อมตัวพ่อเหมือนกันและผมถามตรงๆเลย ไอ้คนที่อ้างๆแบบนี้น่ะมันปั่นจักรยานใช้ในการเดินทางในชีวิตประจำวันทุกวันจริงหรือเปล่า?

"มุมหนึ่งในเส้นทางจักรยาน"
ทางจักรยานที่กทม.สร้างมันมีรถมอเตอร์ไซด์มาวิ่ง ทางมันไม่ดี มีสิ่งกีดขวาง บลาๆๆผมจึงออกไปทดลองปั่นบนทางจักรยานซะเลยให้มันรู้ๆกันไปว่ามันได้หรือไม่ได้ และสำหรับผมการที่รถมอเตอร์ไซด์วิ่งสวนในเลนจักรยานผมพอรับได้นะไม่ใช่เพราะผมขี่มอเตอร์ไซด์แต่เพราะผมมองว่ารถสองล้อเหมือนกัน เส้นทางก็พอจะวิ่งสวนกันได้ก็อะลุ่มอะล่วยแบ่งๆกันไปส่วนวันนี้ผมทดลองพาเจ้าน้องฟ้าไปปั่นบนเส้นประดิษฐ์มนูธรรมโดยเส้นทางนี้ผมเริ่มปั่นจากบ้านพักที่รามอินทรา กม.8 ปั่นไปยาวๆเข้าเส้นประดิษฐ์มนูธรรมมุ่งหน้าไปถนนลาดพร้าวผ่าน BigCลาดพร้าวก่อนแวะหาเพื่อนนั่งคุยเรื่องงานจนเย็น โดยเมื่อออกจากบ้านเพื่อนผมก็มุ่งหน้าปั่นมาที่ BigC ลาดพร้าวเพื่อจะข้ามสะพานลอยไปอีกฝั่งโดยที่บริเวณสะพานลอยนี้จะมีทางลาดให้เข็นจักรยานขึ้นไปได้ ก็เป็นทางที่มีคนบอกเข็นๆกันไม่ได้นั่นล่ะครับผมก็ลองเข็นขึ้นครับเข็นได้แต่ไม่สะดวกนักเพราะเป็นเวลาเลิกงานคนใช้สะพานลอยค่อนข้างเยอะเวลาเข็นเราต้องปรับบันไดจักรยานให้อยู่ตรงกลางและตะแคงรถเล็กน้อยตอนที่เข็นก็จะไม่ติดบันไดแต่ช่วงคนเยอะๆตอนเย็นๆนี่อาจจะไปขวางคนที่เดินสวนกับเราแต่ก็เข็นได้ครับไม่ได้มีปัญหาแต่พอขาลงผมแบกจักรยานเดินลงมามันสะดวกกว่าสำหรับผม(ฮา) ลงจากสะพานลอยผมปั่นไปต่อที่ทาวน์อินทาวน์ที่ศรีวาราเพื่อหม่ำข้าวต้มปลาหลังจากนั้นก็ปั่นชมวิวไปเรื่อยเปื่อยบริเวณนั้น ส่วนขากลับผมปั่นออกไปศรีวราไปโผล่บริเวณแยกห้วยขวางเหม่งจ๋ายข้ามถนนจูงข้ามมาปั่นต่อเส้นประดิษฐ์มนูธรรมย้อนกลับบ้านที่ กม.8 ครั้งนี้ผมใช้เส้นทางจักรยาน90% หายไป 10% เพราะมีบางช่วงผมต้องลงไปบนถนนเพราะมีสิ่งกีดขวาง แต่โดยรวมผมปั่นได้สบายๆไม่ว่าขาไปตอนกลางวันหรือขากลับตอนกลางคืน



"ถนนลาดพร้าว มีทางจักรยานให้ปั่นได้"
"ทางจักรยานบนถนนลาดพร้าว"

"เส้นทางบนถนนประดิษฐ์มนูธรรม"

"เส้นทางปั่นจักรยาน"
"ข้าวต้มปลา ริมถนนรสชาดพอใช้ได้"
โดยเฉพาะขาปั่นกลับตอนกลางคืนมีรถจักรยานปั่นสวนทางกับผมในเลนจักรยาน 4คัน เป็นจักรยานชาวบ้าน2คัน เป็นแขกขายถั่ว 1คัน และเป็นนักปั่นแต่งตัวเต็มยศ 1คัน และขณะเดียวกันผมก็มองเห็นนักปั่นแต่งตัวดีเต็มยศใช้รถราคาแพงอีกกลุ่มปั่นตามกันเป็นพรวนบนถนนหลักตามรูปภาพที่ผมถ่ายมานั่นล่ะครับและจากภาพของนักปั่นกลุ่มนั้นก็ทำให้ผมสงสัยนะว่าเลนจักรยานมีทำไมไม่ใช้
"นักปั่นแต่งตัวดีมีราคาแต่ไม่ใช้ทางจักรยาน"

"ทางเข็นจักรยานข้ามสะพานลอย ภาพนี้ผมถ่ายขากลับนะครับเพราะไม่มีคนเลยถ่ายง่ายหน่อย"

"เส้นทางนี้กลางวันอาจจะไม่สะดวกนักเพราะจะมีร้านค้ามาทำธุรกิจบนทางนี้"

"รถยนต์ที่ยังไม่รู้จักคำว่าเคารพกฎ จอดเต็มๆทางจักรยาน"



"ยกข้ามสะพานลอยก่อนเข้าบ้านก็แถวบ้านผมไม่มีรางให้เข็นนี่(ฮา)"
ส่วนการปั่นในเส้นทางจักรยานของผมในวันนี้ก็ยอมรับครับว่ามีรถมอเตอร์ไซด์เข้ามาใช้เส้นทางจักรยานมากจริงๆ แต่ผมกลับมองว่าหากเส้นทางนี้ไม่มีรถมอเตอร์ไซด์มาวิ่งถนนเส้นคงกลายเป็นถนนร้างหรือไม่ก็เป็นที่จับจองของนักธุรกิจข้างถนนจนหมด เราคนที่ปั่นจักรยานชอบเรียกร้องกันให้สร้างให้ทำแต่เส้นทางที่มีอยู่กลับไม่ไปใช้ แต่พอมีคนอื่นไปใช้ก็ออกมาโวยวายเหมือนหมาหวงก้าง อยากให้เขาเคารพสิทธิ์ของเราก็จงไปใช้สิทธิ์ของเราสิครับ อย่าเอาแต่โวยวายแล้วหอบจักรใส่ท้ายรถยนต์ไปปั่นในสนามเพราะมันไม่ทำให้สังคมเข้าใจและปรับตัวมาพวกเราหรอก "พวกเราต้องปรับตัวเราให้สังคมเห็นก่อน แล้วสังคมจึงจะปรับตัวตามพวกเรา"


EZ noneny AD