วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558

ปั่นจักรยาน ใช้สมองมากกว่าใช้ขา

การปั่นจักรยานไม่ใช่คิดแต่จะรู้จักแต่ยี่ห้อจักรยานว่ายี่ห้อไหนถูกยี่ห้อไหนแพง สนใจแต่อุปกรณ์ตกแต่งว่าอันไหนเท่อันไหนหรูแต่ที่เราควรต้องรู้คือตัวเราเองเพราะจักรยานมันเป็นทั้งพาหนะที่ใช้ในการเดินทางในชีวิตประจำวัน ใช้ในกิจกรรมสันทนาการในการออกกำลังกายรวมถึงใช้ในการแข่งขัน แต่ทั้งหมดมันมีอยู่อย่างหนึ่งที่คนปั่นจักรยานต้องใช้เหมือนๆกันนั่นก็คือ "แรงของตัวเราเอง ในการขับเคลื่อนจักรยาน"

ดังนั้นการปั่นจักรยานจึงควรรู้จักแรงของเราให้มากที่สุด ไม่ว่าคุณจะปั่นจักรยานแบบสันทนาการหรือจะเป็นนักแข่งก็ไม่ต้องบ้าพลัง ไม่ต้องโชว์พาวอะไร ปั่นไปตามกำลังของคุณและรู้จักยืดหยุ่นกำลังของคุณเพื่อให้ร่างกายรับได้ ไม่ใช่ตะบี้ตะบันปั่นโชว์ความเป็นขาแรง ที่ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพราะช่วงนี้ผมเห็นข่าวบ่อยครั้งเรื่องผู้ใช้จักรยานประสบอุบัติเหตุจากการโชว์ความเป็นขาแรงแต่สติไม่ค่อยมีทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และบางรายถึงขั้นเสียชีวิต และบางคนก็โชว์พลังมาเกินไปไม่ดูว่าสภาพร่างกายรับได้หรือไม่ สุดท้ายก็น็อค

"ไม่ได้เป็นโปรจักรยานแล้วเสือกเขียนเรื่องจักรยานทำไม" หลายคนอาจจะสงสัยแต่ที่ผมเขียนเรื่องพวกนี้ผมเขียนในฐานะที่ผมเป็นนักกีฬามาก่อนเคยเล่นกีฬาทั้งประเภททีมและกีฬาบุคล เคยลงแข่งขันกีฬาตั้งแต่ระดับโรงเรียนจนถึงระดับประเทศมาแล้ว (กระซิบนิดๆก็ได้ว่าผมเคยเป็นแชมป์ประเทศไทยในกีฬาที่ผมแข่งขันถึงสามสมัย)

ถึงแม้นกีฬาที่ผมเคยแข่งขันจะไม่ใช่จักรยานแต่ผมก็มองว่าการออกกำลังกายการเล่นกีฬาไม่ว่าจะประเภทไหนมันก็มีหลักการในการใช้พละกำลังที่คล้ายกัน ดังนั้นคุณต้องรู้จักร่างกายของคุณให้มาก ต้องรู้ให้เยอะกว่ายี่ห้อรถจักรยาน รู้ให้มากกว่าของประดับตกแต่ง ไม่ต้องสนใจเรืองเครื่องทรงเครื่องประดับให้มากนักแต่ให้สนใจเรื่องตัวเอง มองดูว่าคุณเป็นใคร อายุเท่าไหร่ มีโรคประจำตัวหรือไม่ ดังนั้นกฏเหล็กของนักกีฬาที่ดีคือ "ต้องรู้จักร่างกายตัวเอง" คุณต้องยืดหยุ่นร่างกายให้เป็น รู้จักการควบคุมระบบการหายใจ และต้องสังเกตกล้ามเนื้อของคุณทุกส่วนว่ามันมีอาการผิดปกติหรือไม่ ถ้ามี...อย่าฝืน อย่าดันทุรัง คนเก่งคือคนที่ยืนอยู่ได้นานกว่า ไม่ใช่คนที่ถึงแล้วตายก่อน

ดังนั้นหากคุณปั่นจักรยานไม่ว่าจะเป็นเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวันหรือเพื่อสันทนาการหรือการแข่งขัน คุณต้องรู้จักการบริหารจัดการแรงอย่างมีประโยชน์ รู้จักออมแรงเมื่อถึงจุดที่ต้องออม ไม่ใช่มีเท่าไหร่ปล่อยหมด สมัยที่ผมแข่งขันกีฬานั้นผมจะไม่รุกหนักคู่ต่อสู้แต่ผมจะค่อยๆเดินเข้าหาและถอยออกมาเป็นบางจังหวะเพื่อถนอมแรงตัวเองเอาไว้และปล่อยมันออกไปเมื่อถึงเวลาและมีเป้าหมายที่ชัดเจนและหยุดเมื่อรู้สึกว่ามันไม่มีประโยชน์ที่จะใช้กำลังของเรา

ในฐานะที่ผมเคยเล่นกีฬามาก่อนผมจึงจะบอกว่าไม่ว่ากีฬาชนิดไหนความเก่งกาจของนักกีฬามันมาจากพลังสองส่วน ส่วนที่หนึ่งคือพลังร่างกาย แต่ส่วนที่สองที่สำคัญคือ "พลังสมอง" ดังนั้นรู้จักใช้มันให้มากๆครับเพื่อตัวคุณเอง


EZ noneny AD