วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

จักรยานกระดาษ Cardboard Bike

มีคนเคยถามผมว่าทำไมผมถึงมาปั่นจักรยาน อะไรทำให้ผมมาหลงชื่นชมการปั่นจักรยานบนท้องถนนแทนที่จะขับรถยนต์หรือซิ่งมอเตอร์ไซด์เหมือนเดิมๆ มันก็คงเพราะจักรยานมันมีเสน่ห์มีอะไรให้เราหลงใหล และอีกอย่างที่ผมมองก็คือจักรยานมันเป็นงานศิลปะผมชอบเพราะมันเป็นงานศิลปะที่เก่าแก่สวยงามที่อาศัยโครงเส้นของเหล็กมาเชื่อมต่อทำเป็นเฟรมที่สวยงามและยังสามารถใช้เป็นพาหนะเดินทางได้อีกด้วย


จักรยานนั้นมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องและอย่างหนึ่งที่จักรยานมีการพัฒนาคือ วัสดุที่ใช้ในการผลิด เพราะจักรยานต้องอาศัยแรงกำลังขาของมนุษย์ในการปั่นดังนั้นวัสดุที่นำมาทำจักรยานจึงควรมีน้ำหนักเบาที่สุดแต่ต้องแข็งแรงทนทาน เราจึงได้เห็นจักรยานพัฒนาเรื่องวัสดุที่จากเหล็ก มาเป็นอลูมิเนียม และมาเป็นคาร์บอน

แต่ที่ผมเอามาเขียนในคราวนี้เป็นจักรยานนี้ถูกพัฒนาและสร้างMr. Izhar Gafni ซึ่งเป็นวิศวกรเครื่องกล ชาวอิสราเอล โดยเขามีความคิดจะนำวัสดุที่พบบ่อยๆมากๆนั่นคือ"กระดาษแข็ง" หรือ Cardboard อย่าสับสนนะครับมันไม่ใช่ Carbon อย่างที่นักปั่นจักรยานคุ้นเคย โดยเขาได้คิดค้นวิธีการพับกระดาษและการติดกาวและทาสารเคลือบผิวเพื่อให้มันมีความทนทานและกันน้ำได้ และสามารถรับน้ำหนักได้ถึง 200กิโลกรัม ซึ่งตอนนี้มันยังคงเป็นจักรยานต้นแบบในลักษณะของจักรยาน fixed-gear ซึ่งต่อไปก็คงจะมีการพัฒนาเพิ่มเติมส่วนอนาคตจะมีการผลิตเชิงพาณิชย์หรือไม่อันนี้ยังไม่แน่ชัดแต่เห็นแล้วมันก็เจ๋งไม่ใช่เล่นเลยใช่ไหมล่ะครับ เอาล่ะครับมาลองชมคลิปการสร้างจักรยานจากกระดาษแข็งกันดีกว่าครับ




วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ชายผู้ปั่นจักรยานเที่ยวรอบโลก มากกว่า500,000กิโลเมตร

ใกล้จะปีใหม่แล้วผมก็เลยเอาคลิปการปั่นจักรยานเที่ยวมาให้ชมกันสำหรับคนที่ชื่นชอบการปั่นจักรยานแบบทัวร์ริ่ง คลิปนี้ไม่มีโชว์รถนะครับแต่เป็นคลิปสัมภาษณ์ Frank van Rijn อาจารย์และนักเขียนชาวดัสซ์ ที่หลงรักการเดินทางท่องโลกด้วยจักรยานมากกว่า500,000กม.และปั่นจักรยานเที่ยวมาแล้วทุกทวีปทั่วโลกยกเว้น ทวีปแอนตาร์กติกา ที่เขายังไม่ได้ปั่นจักรยานไปท่องเที่ยว แหมก็ทวีปนี้มันหนาวหฤโหดขนาดนั้นคุณลุงแกคงไม่รุ้จะเที่ยวดูอะไร(ฮา) ลองดูกันครับผมว่านั่งฟังแล้วได้ความรู้เหมือนกันนะ และโดยส่วนตัวผมหวังว่าสักวันผมจะมีปัญญาทำแบบเขาบ้างแต่ไม่ถึงขั้นปั่นไปทั่วโลกหรอกแค่ประเทศไทยนี่ล่ะตั้งใจว่าจะปั่นไปเที่ยวตอนนี้ก็เริ่มกางแผนที่วางแผน เก็บเงิน หาเวลาเพราะการเดินทางท่องเที่ยวด้วยจักรยานมันต้องใช้เวลามากกว่าการเดินทางด้วยรถยนต์หรือมอเตอร์ไซด์ ดังนั้นเรื่องเวลานานๆหลายๆวันมันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดและสำหรับผมแค่ได้ปั่นเที่ยวประเทศไทยของเราแค่นี้ผมก็ปลื้มสุดๆแล้วแถมยังลดพุงแถมหุ่นดีสมใจอีกต่างหาก(ฮา)

คลิปตอนที่1


คลิปตอนที่ 2




วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ตามหาทางจักรยาน

วันนี้มาปั่นตามหาทางจักรยาน



เจอบ้าง ไม่เจอบ้าง ทางหายบ้าง เป็นหลุมเล็กบ้างใหญ่บ้าง โดนขวางบ้าง เจอป้าย...เฮ้ยป้ายมีใบงอกออกมาด้วย ปั่นมาเจอทางเชื่อม เอ้า...งามไส้ ร้านก๋วยเตี๋ยวแกตั้งเต็มเลน หลบร้านก๋วยเตี๋ยวได้ กลับเข้าเลนจักรยาน อ่า...เจอรถจอขวางทาง ปั่นๆไปอ้าว!!นี่มันถนนร้านขายต้นไม้นี่หว่า

ทางจักรยานของประเทศไทยจำเป็นไหม...ถ้าถามผมในฐานะที่เป็นคนใช้จักรยานเดินทางในชีวิตประจำวัน มันก็จำเป็นแต่ไม่ถึงขั้นต้องไปลงทุนเป็นเมกะโปรเจคอะไร แค่ปรับพื้นที่บางส่วน เช่นทางเท้าหรือถนนหลักให้จักรยานสามารถใช้ได้ อย่าให้ฟุตบาทเป็นพื้นที่จับจองทำการค้าถาวรหรือวางป้ายโฆษณา เสาไฟ หรือแม้นแต่การจัดสวนหย่อมบนทางเท้าก็ไม่รู้จะจัดกันทำไมมันกีดขวางทั้งคนเดินเท้าและคนปั่นจักรยาน ถนนหลักก็เพียงแค่ปรับขอบเขตให้จักรยานสามารถใช้ทางได้อย่างปลอดภัย ไม่ต้องถึงขั้นไปไล่ที่รถยนต์เขาหรอกอันนั้นมันก็เวอร์ไป แค่ปรับและส่งเสริมทำความเข้าใจให้ผู้ใช้ถนนอย่างรถยนต์หรือมอเตอร์ไซด์ได้รับรู้ว่าเลนซ้ายสุดด้านนี้เป็นพื้นที่จักรยานเขาจะใช้ร่วมกับคุณ อย่ามาละเมิดหรือกีดขวางก็เท่านั้น

ประเทศไทยมันไม่ต้องเยอะ ไม่ต้องเวอร์ ไม่ต้องทำอะไรให้มันมากมายหรอก ผมเขียนในฐานะที่ผมเดินทางด้วยจักรยาน ปั่นไปทำงานจากบ้านไปถึงที่ทำงานไปกลับวันหนึ่งร่วมๆ40กิโล ผมไม่อยากได้อะไรที่วุ่นวายแค่อยากให้สังคมเข้าใจว่าจักรยานสามารถใช้เดินทางได้ในชีวิตประจำวัน ผมไม่ได้เรียกร้องว่าต้องมาทำเมกะโปรเจคทางจักรยาน ไล่ที่รถยนต์เอามาสร้างเลนจักรยาน อย่าไร้สาระขนาดนั้นเลยเพราะคนใช้จักรยานในชีวิตประจำวันจริงๆมีไม่มากหรอกครับ แค่อยากให้รัฐหันมาปรับปรุงพื้นที่ที่มีอยู่ให้ดีขึ้น กวดขันเรื่องการตั้งสิ่งของหรือสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำทางเท้า ปรับปรุงเข้มงวดเรื่องกฎหมายจารจรกับผู้ที่ขับรถและจอดกีดขวางขอบทาง เอาแค่ง่ายๆแบบนี้ก่อนครับ อย่าไปคิดหาเมกะโปรเจคผลาญงบประมาณกันเลย




อย่าไปมองว่าต่างประเทศเขาทำอะไรเพราะประเทศเราเพิ่งตื่นตัวเรื่องจักรยานมาไม่นานทั้งที่จริงจักรยานในประเทศเราก็เข้ามาพร้อมๆกับรถยนต์ในสมัยรัชกาลที่5 แต่เราไม่ได้เน้นเรื่องจักรยานแต่เราเน้นรถยนต์ ดังนั้นระยะเวลาที่ผ่านมาร้อยกว่าปีที่เราปูโครงสร้างพื้นฐานให้รถยนต์อยู่ๆจะมาเปลี่ยนเป็นจักรยานมันไม่ง่ายอย่างนั้นหรอกครับ อย่าตื่น อย่าบ้าจี้ไปกับกระแสแฟชั่นของคนกลุ่มหนึ่งจนไปลุกล้ำสิทธิของคนที่เป็นโครงสร้างหลักในการจารจร เอาเป็นว่าทางจักรยานควรมีไหม มันควรจะมี แต่ยังไม่ถึงขั้นต้องปรับทุกอย่างรื้อทั้งระบบ เอาแค่พื้นฐานกวดขันเรื่องระเบียบวินัยจารจร ดูแลปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่ประยุกตให้จักรยานสามารถใช้ร่วมได้โดยไม่เกิดอันตราย คนที่ใช้จักรยานจริงๆในชีวิตประจำวันต้องการแค่นี้ล่ะครับ พวกเราไม่ต้องการทางจักรยานเพื่อปั่นแข่งขัน ปั่นแว้นกันเป็นแก๊งค์หรือไว้เป็นถนนโชว์รถ เราต้องการแค่เส้นทางที่สะดวกและปลอดภัยเพื่อใช้ในการเดินทางสัญจรในชีวิตประจำวันจริงๆ








วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ปั่นๆยกๆ เรื่องเล็กๆของนักปั่นขี้บ่น


ปัญหาของคนเมืองบางกอกสำหรับนักปั่นจักรยานหลายคน ซึ่งมักจะบ่นท้อแท้ไม่อยากปั่นจักรยานก็เพราะต้องข้ามสะพานลอย ที่จริงมันไม่ใช่เรื่องยุ่งยากหรอกครับถ้าคุณจะข้ามสะพานลอยในเมืองบางกอกเพราะส่วนมากคนที่ใช้จักรยานก็จะรู้ว่าจักรยานคุณน้ำหนักเท่าไหร่ ร้อยหรือสองร้อยกิโล เฮ้ย...ไม่ถึงเนอะ(ฮา) ส่วนมากจักรยานมันก็หนักราวๆ20กิโลไม่เกินกว่านี้ นี่เป็นจักรยานธรรมดาๆที่เรียกกันว่าจักรยานแม่บ้านนั่นล่ะครับ ไม่ใช่จักรยานไฟฟ้าe-bike เพราะแบบนั้นบางคันอาจจะหนักได้ถึง25กิโล ส่วนพวกจักรยานเทพๆราคาแพงๆน่ะน้ำหนักทั้งคันไม่ถึง10กิโลด้วยซ้ำไป บางคันหนักแค่4-5กิโล ดังนั้นถ้าคุณมาปั่นจักรยานในบางกอกแล้วจำต้องข้ามถนนด้วยสะพานลอยก็แค่ยกมันข้ามไปครับ เพราะรถน้ำหนักไม่เกิน20กิโลมนุษย์ปกติสามารถยกได้ครับเพราะคนเราโดยหลักแล้วมีความสามารถในยกน้ำหนักได้เกือบเท่าน้ำหนักตัวเอง ยกเว้นคุณเป็นพวกโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง(ALS) แต่ถ้าเอาตามหลักกฎหมายแรงงานในการทำงานแรงงานของประเทศไทยกำหนดไว้ว่าผู้ชายสามารถยกของหนักในการทำงานได้ครั้งละ55กิโล ส่วนผู้หญิงจะยกได้25กิโล ซึ่งนี่หมายถึงการทำงานแบกหามต่อเนื่องทั้งวันๆและ8ชั่วโมงนะครับไม่ใช่ยกเดินวันละไม่กี่ก้าว ไม่กี่นาทีแบบยกจักรยานข้ามสะพานลอย ดังนั้นหากเราจำเป็นต้องปั่นจักรยานในบางกอกหากเจอทางแยกที่ต้องข้ามถนนถ้าไม่มีทางม้าลายหรือทางแยกไฟแดงให้เราข้ามได้ก็ยกขึ้นสะพานลอยสิครับมันจะยากตรงไหน? ยิ่งพวกใช้รถเทพๆด้วยแล้วน้ำหนักเบาหวิวยกมือเดียวสบายๆทำไมมันถึงยกไม่ได้ครับ มันยากลำบากอะไร? ส่วนวิธีการยกก็มีหลายวิธีครับ ผมไม่ทราบว่าเป็นวิธีที่ถูกต้องที่สุดหรือไม่แต่ผมจะทำแบบนี้

วิธีแรก วิธีมักจะใช้กับจักรยานแม่บ้านหรือจักรยานที่ไม่มีท่อกลางหรือจักรยานพับโดยจับที่แฮนด์จักรจักรยานด้วยมือข้างหนึ่ง ส่วนอีกข้างจับบริเวณปลายท่อนั่งบริเวณบันไดนั่นล่ะครับ แล้วยกขึ้น แบบนี้ถ้ายกข้ามเนินเตี้ยๆหรือทางสะพานที่ไม่ชันมากก็สบายๆ แต่ถ้ายกข้ามสะพานลอยถ้าคุณยกได้ไม่สูงพอบางครั้งล้ออาจจะติดกับบันไดสะพานลอยได้ ดังนั้นก็ยกให้สูงเล็กน้อยแล้วอาจจะใช้วิธีเอียงรถขณะยกเล็กน้อยเพื่อเบี่ยงล้อจักรยานให้พ้นแนวของบันไดสะพานลอยแต่อย่าเบี่ยงไปเยอะนะครับเดี๋ยวจะไปขวางทางคนอื่นเขา

วิธีที่สอง แบกขึ้นบ่าครับวิธีผมใช้ประจำ สำหรับจักรยานพวกเสือๆทั้งหลายไม่ว่าจะเสือหมอบ เสือภูเขา เสือผสมอย่างไฮบริด รถพวกนี้มันจะมีคานท่อกลางก็แค่สอดแขนเข้าไปยกแบบขึ้นไหล่แล้วก็แบกเดินข้ามสะพานลอยแบบตัวปลิวๆได้เลย ยิ่งพวกรถเทพน้ำหนักเบาๆนี่ยิ่งสบายบรื่อ ส่วนจักรยานแม่บ้านอาจจะยกวิธีนี้ไม่ได้ก็ต้องใช้วิธีแรกแทน

แต่ถ้าการข้ามสะพานลอยในบางจุดของเมืองบางกอกเขาก็จะทำรางน้ำฝน เอ้ย...ไม่ใช่!!รางเข็นรถจักรยานไว้ให้สำหรับเข็นขึ้นไป วิธีเข็นคือให้เอาบันไดมาอยู่ในแนวระนาบกับพื้น จากนั้นก็ยกรถขึ้นไปวางในรางแล้วก็เอียงรถประมาณ25-30องศาในขณะที่เข็นขึ้น ซึ่งอาจจะยุ่งยากเล็กน้อยสำหรับคนไม่คุ้น และหลายคนก็ไม่ทราบวิธีก็เลยเข็นขึ้นไม่ได้เพราะบันไดจักรยานจะติดกับราวสะพานลอย

"ยกจักรยานลงสะพานก็ใช้วิธีเดิมเหมือนยกขึ้นมาครับ "

"ยกข้ามสะพานลอยสำหรับผมๆว่ามันปลอดภัยกว่าปั่นข้ามถนน"
เห็นไหมครับวิธีการใช้จักรยานเดินทางในเมืองบางกอกอย่างกรุงเทพทำไมมันจะทำไม่ได้ มันทำได้และไม่ได้มีข้อจำกัดอะไรเลย ทุกอย่างมันอยู่ที่เราต่างหาก ผมเองทุกวันนี้ใช้จักรยานเดินทางสัญจรในชีวิตประจำวันใก้ลบ้างไกลบ้างและผมได้เห็นชัดกับตัวเองแล้วว่า ข้ออ้างที่บอกว่าปั่นจักรยานในเมืองทำไม่ได้น่ะ ไม่จริง เพราะมันทำได้และคนที่พูดแบบนั้นส่วนมากก็ไม่ใช่คนที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันจริงๆ แต่อาจจะมีจักรยานและปั่นบ้างในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือเวลาไปรวมกลุ่มกับเพื่อนๆตามสถานที่ต่างๆหรือตามงานอีเว้นท์โชว์จักรยาน แต่ถ้าถามว่าทุกวันนี้พวกเขาเดินทางไปทำงานด้วยอะไรหรือเดินทางมาร่วมงานจักรยานต่างๆพวกนี้อย่างไร ซึ่งส่วนมากจะได้ยินคำตอบว่า "เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว" 


วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

เติมน้ำมันให้จักรยาน

"เติมน้ำมันให้จักรยาน"

เวลาที่ผมอ่านหนังสือหรือเปิดเวบไซด์ต่างๆและพบกับบทความแนะนำแหล่งท่องเที่ยวโดยการปั่นจักรยานไปเที่ยวที่นั่นที่โน่นไปตลาดนั้นตลาดนี้ไปปั่นสนามนั้นสนามนี้ผมเองก็เข้าใจว่าเขาต้องการเขียนข่าวเพื่อประชาสัมพันธ์สถานที่นั้นๆหรือเพื่อเหตุผลการค้าหรือเหตุผลอื่นๆก็ตามที แต่ผมไม่เข้าใจเลยว่าเวลาอ้างถึงจักรยานที่ใช้พลังงานมนุษย์ขับเคลื่อนทำไมต้อง "เติมน้ำมันให้จักรยาน"


เติมน้ำมันให้จักรยานผมว่าหลายๆคนอาจจะงงกับคำๆนี้ของผม เพราะจักรยานมันเป็นยานพาหนะที่ไม่ต้องเติมน้ำมันแค่เติมแรงของเราลงไปมันก็วิ่งได้แล้ว มันเหมือนขาของเราคือลูกสูบทำหน้าที่สูบพลังงานเพื่อขับเคลื่อนล้อรถจักรยานนั่นเอง แล้วทำไมเราต้องเติมน้ำมันให้จักรยาน หรือผมจะหมายถึงการเติมน้ำมันหยอดโซ่จักรยานหรือเปล่านะคำตอบก็คือไม่ใช่ครับ แต่มันเกี่ยวกับเรื่องความเข้าใจในเหตุผลที่นำมาอ้างกันแบบโลกสวยว่าฉันรักการปั่นจักรยาน ปั่นเพื่อสุขภาพ ปั่นเพื่อลดโลกร้อน ปั่นเพื่อรักษ์โลก ปั่นเพื่อลดคาร์บอนไดออกไซด์บลาๆๆๆ แล้วแต่คำอ้างสวยหรูที่เอามาใช้เอามาแชร์กัน แต่จริงๆมันใช่หรือเปล่า?

มาลองทำความเข้าใจกับความหมายของคำว่า "เติมน้ำมันให้จักรยาน" มันก็เริ่มมาจากเวลาที่เราบอกว่าเราไปปั่นจักรยานที่นั่นโน่นนี่ มันก็ต้องย้อนกลับครับว่า"ไปกันอย่างไร?" ลองทบทวนกันดูไหมครับ หลายครั้งที่ผมเห็นบทความหรือโพสต์ต่างๆในโลกออนไลน์มันจะเป็นลักษณะนี้ "ฉันไปปั่นจักรยานเที่ยวที่นั่นที่โน่นมานะ โอ๊ยสวยๆๆมากๆ เวลาปั่นแล้วมันรู้สึกสดชื่นเข้ากับธรรมชาติจัง ดีใจที่ได้เที่ยวด้วยพลังจากตัวเราเอง ปั่นจักรยานเที่ยวแบบนี้แล้วเป็นการช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาตินะจ๊ะ"...โอ๊ะๆๆๆหยุดก่อน!!จริงหรือครับ ใช่จริงหรือ ไม่โกหกตัวเองโกหกโลกนะ...เพราะผมเห็นหลายครั้งว่าผู้ที่ไปปั่นจักรยานแบบนั้นพวกเขาขับรถยนต์ไปตามสถานที่นั้นๆเอาจักรยานใส่ท้ายรถไปพอขับรถไปถึงก็จอดแล้วขนจักรยานลงมาปั่นแล้วก็เซลฟี่หน้าตัวเองก็อ้างว่านี่คือกิจกรรมปั่นเพื่อสุขภาพและอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม มันก็เหมือนหลายกิจกรรมจักรยานที่บอกมาปั่นลดโลกร้อนกันเถอะบลาๆๆๆ แต่สุดท้ายทั้งคนจัดงานทั้งคนไปร่วมงานทั้งสื่อมวลชนก็แห่กันขนจักรยานใส่รถยนต์เพื่อไปร่วมกิจกรรมและถ่ายภาพหมู่โดยพร้อมเพรียม (ฮา...ไม่ออกเลย)


ผมมีคำแนะนำสำหรับคนที่เป็นผู้ที่อยากอนุรักษ์การใช้พลังงานฟอลซิลจริงๆ ผู้ที่อยากลดคาร์บอนให้โลกใบนี้จริงๆ และผู้ที่อยากออกกำลังกายเพื่อสุขภาพจริงๆลองทำแบบนี้ดูครับถ้าคุณอยากไปเที่ยวที่ไหนถ้าไม่ไกลสามารถปั่นจักรยานไปได้ก็ให้ปั่นไปครับแต่ถ้าระยะทางมันไกลก็ต้องมาคำนวณกันผมจะยกตัวอย่างระยะทางประมาณ200กิโล ให้คุณลองถามตัวเองครับว่าคุณปั่นจักรยานได้ระยะทางเท่าไหร่โดยไม่หยุดและเริ่มรู้สึกเหนื่อย ยกตัวอย่างถ้าคุณปั่นได้ระยะทางต่อเนื่อง20กิโลจึงเริ่มเหนื่อย ก็ให้คุณปั่นแล้วพักทุกๆ20กิโลก็หมายความว่าระยะทาง200กิโลคุณจะพักประมาณ10ครั้ง แต่ถ้าคุณพลังเยอะสามารถปั่นยิงยาวๆแบบ40-50กิโลได้ ก็ไปพักที่ช่วงนั้น ซึ่งมันก็เท่านั้นเองในการปั่นจักรยานเที่ยววิธีการที่ผมแนะนำนี้ไม่ใช่วิธีการปั่นจักรยานแข่งขันนะครับแต่เป็นการปั่นจักรยานเที่ยวโดยให้คุณรู้จักการใช้แรงของคุณอย่างฉลาดเพื่อไม่ให้เหนื่อยและล้าเกินไป ส่วนอีกวิธีหากคุณบอกฉันไม่อยากปั่นไกลๆกว่าจะไปถึงหมดแรงหมดอารมณ์เที่ยวก็ลองใช้บริการขนส่งมวลชนครับจะใช้รถไฟ รถทัวร์ ก็ลองไปสถามเจ้าหน้าที่ว่ามีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ในการนำจักรยานไปด้วย เพราะถ้าคุณเที่ยวแบบนี้ไแบบนี้มันก็เป็นการลดการใช้พลังงานฟอลซิลแบบส่วนตัวได้จริงๆอย่างที่ปากคุณอ้าง

ส่วนผู้ที่ต้องการออกกำลังกายก็ไม่จำเป็นต้องเติมน้ำมันให้จักรยานโดยเอาใส่ท้ายรถไปปั่นตามสถานที่ต่างๆเพื่อเซลฟี่หน้าตัวเองหรอกครับ ปั่นแถวบ้านคุณนั่นล่ะแล้วถ้าคุณอยากจะออกกำลังกายจริงๆก็ลองหาเส้นทางปั่นในตรอกซอกซอยบริเวณที่พักของคุณโดยให้ระยะเวลาในการปั่นต่อเนื่องอย่างน้อยๆ30นาที เพราะน้อยกว่านี้มันไม่ช่วยเรื่องการเผาผลาญพลังงานอะไรแต่บางท่านอาจจะบอกว่าปั่นแถวบ้านมันไม่สนุกไม่มีอะไรน่าสนใจก็แนะนำว่าให้คุณปั่นและมองหาสถานที่ๆไม่เคยเข้าแวะดูสถานที่ๆปกติถ้าคุณขับรถยนต์คุณจะผ่านไปโดยไม่ได้สนใจมันแต่ตอนนี้เมื่อคุณปั่นจักรยานคุณก็ลองเข้าไปปั่นในส่วนนั้นดูและคุณอาจจะได้เห็นมุมมองใหม่ๆเรื่องราวใหม่ๆที่คุณอาจจะไม่เคยรู้เพียงแค่นั้นคุณก็ได้ปั่นออกกำลังกายได้เที่ยวและยังได้เซลฟี่หน้าตัวเองโดยวิวรอบข้างไม่ซ้ำซากกับใครๆ(ฮา)


การเอาจักรยานใส่รถยนต์แล้วขับไปตามสถานที่ต่างๆไปปั่นโชว์ ไปแค่รวมกลุ่มถ่ายภาพแล้วก็เอาจักรยานมาใส่รถขับกลับบ้านหรือขับไปเที่ยวไปสังสรรค์กันต่อ แบบนี้ล่ะครับที่ผมเรียกว่า"เติมน้ำมันให้จักรยาน"เพราะมันไม่ใช่การใช้จักรยานเป็นพาหนะเดินทางเพื่อลดการใช้พลังงานฟอลซิลอะไรทั้งนั้นแต่ก็แปลกที่เวลาถามผู้ที่หันมาปั่นจักรยานหลายๆครั้ง หนึ่งในคำตอบยอดเท่+ยอดฮิตก็คือ"ปั่นจักรยานเพื่อลดโลกร้อน เพื่อลดการใช้พลังงาน" แต่ในความเป็นจริงนอกจากพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้ช่วยลดภาระโลกร้อนหรือการใช้พลังงานฟอลซิลแต่พวกเขากลับเพิ่มภาระการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นเพราะการบรรทุกรถจักรยานไปกับรถยนต์ถึงแม้นจะมีข้อโต้แย้งว่าจักรยานน้ำหนักเบาแต่การเพิ่มน้ำหนักบรรทุกโดยสิ่งของที่ไม่จำเป็นเท่ากับเป็นการเพิ่มภาระให้เครื่องยนต์ทำงานหนักขึ้นและใช้พลังงานมากขึ้น ขอร้องล่ะ อย่าใช้คำพูดที่สวนทางกับการกระทำเลยครับ


วันพุธที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ความทรงจำของฉันกับจักรยานของตา

วันนี้ได้เห็นข่าวลอบวางระเบิดที่ตำบลโต๊ะเด็งซึ่งเป็นตำบลที่ผมเคยอยู่กับตาและยายสมัยก่อน ทำให้นึกถึงภาพสมัยยังเป็นเด็กตอนที่ผมหัดปั่นจักรยานครั้งแรกด้วยจักรยานของคุณตาที่ทำสวนยางอยู่ที่นั่น จักรยานแบบนี้เขาเรียกจักรยานผู้ชายหน้าตาประมาณในรูปภาพที่ผมแนบมานั่นล่ะครับ ผมหัดปั่นจักรยานแบบนี้แต่ขาไม่ถึงนั่งบนเบาะไม่ได้ก็เลยต้องเอาขาข้างหนึ่งสอดลอดเข้าไปในเฟรมบนเวลาจะปั่นตัวก็จะเอียงๆออกมาอีกด้าน จักรยานแบบนี้ตอนนั้นคุณตาผมเอาไว้ปั่นเข้าสวนยางและบรรทุกยางแผ่นออกมาจากสวน ซึ่งเส้นทางก็ไม่ได้ใก้ลเลยแถมทางก็ไม่ราบเรียบและบางช่วงก็เป็นดินทรายนิ่มๆพอรถที่หนักเพราะต้องบรรทุกยางแผ่นมาด้วยล้อก็จะจมลงดินทรายนั้น คุณตาผมไม่ใช่นักปั่นจักรยานน่องทองที่ไหนแต่ผมมีความรู้สึกว่าคุณตาแข็งแรงมากที่ปั่นจักรยานที่บรรทุกแผ่นยางหนักๆพวกนั้นออกมาจากสวนได้ทุกวัน

และเวลาจักรยานยางแตกผมก็จะเห็นคุณตานั่งป่ะยางจักรยานเอง โดยวัสดุที่คุณตาใช้ก็ง่ายๆ โดยการงัดยางคุณตาก็จะใช้เหล็กแบนๆหรือไขควงมางัดยางออก แล้วก็หารูรั่วจากนั้นคุณตาจะตัดยางในจักรยานเก่าๆที่ไม่ได้ใช้แล้วมาเป็นแผ่นชิ้นเล็กๆ พอหารูรั่วเจอแล้วก็เอาตะไบหรือบางครั้งก็กระดาษทรายขัดๆบริเวณที่เป็นรูรั่วให้ผิวยางมันหยาบบางครั้งก็ขัดแผ่นยางในที่ตัดมาด้วยจากนั้นก็ทากาวยางกระป๋องรอบๆแผลที่ร้่วแล้วก็นำแผ่นยางในที่ตัดไว้มาป่ะปิดไว้กดให้แน่จนกาวแห้งก็ใส่ยางกลับเข้าไปก็ใช้ได้แล้ว

มาวันนี้ผมหันมาใช้จักรยานอย่างจริงจังในชีวิตประจำวันภาพที่คุณตานั่งป่ะยางรถจักรยานมันย้อนเข้ามาหาผมทำให้ผมรู้สึกว่าที่ผ่านมาคุณตาได้สอนผมเอาไว้โดยที่ไม่เคยบอกในหลายเรื่องรวมถึงเรื่องจักรยานด้วย แต่ก็เสียดายที่ผมไม่ได้กลับไปบ้านที่ภาคใต้นานแล้วตั้งแต่มีเรื่องราวไม่สงบ และจักรยานคันที่ผมเคยหัดปั่นก็ไม่แน่ใจว่ายังอยู่หรือไม่เพราะคุณตาผมเสียไปหลายสิบปีแล้ว รู้แต่หลังคุณตาเสียก็ไม่มีใครดูแลจักรยานคันนั้นอีกเลย


EZ noneny AD