วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

วิธีป้องกันจักรยานไม่ให้ถูกขโมยง่ายๆ Bicycle safety lock

ตัวอย่างจักรยานที่ล็อคแต่ก็ไม่รอดจากหัวขโมย
สำหรับคนที่ใช้จักรยานนั้นมีปัญหาหนึ่งที่ไม่อยากเจอเลยนั่นก็คือ "จักรยานหาย" แน่นอนว่าเมื่อเราผู้เป็นเจ้าของจักรยานไม่ต้องการเห็นรถของเราหายไปแบบนั้นจึงต้องเตรียมอุปกรณ์ป้องกัน นั่นก็คือ"ที่ล็อคจักรยาน"

แต่ทราบหรือไม่ครับ ไม่ว่าที่ล็อคของเราจะดีเพียงไรโอกาสที่รถจักรยานของเราจะสูญหายก็ยังคงเป็นไปได้เสมอเพราะไม่มีอุปกรณ์ชนิดไหนสามารถป้องการการโจรกรรมได้100%

พอมาถึงแบบนี้หลายคนอาจจะมีคำถามว่าเมื่อที่ล็อคจักรยานไม่สามารถป้องการ
โจรกรรมได้เราควรจะทำอย่างไรในการดูแลจักรยานที่รักของเราไม่ให้ถูกขโมย คำตอบคือ" ไม่มีหรอกครับ เพียงแต่เราต้องป้องกันโดยการที่เราต้องสร้างความลำบากยุ่งยากและเสียเวลาในการขโมยให้มากที่สุด " เพราะอย่างน้อยคนพวกนี้หากเห็นว่าไม่สะดวกและต้องใช้เวลานานในการขโมยมันก็จะถอยไปก่อน หรือมองหาเป้าหมายอื่นแทน

แต่ต้องจำไว้ก่อนนะครับว่าสิ่งที่ผมแนะนำนี่คือหลังจากการที่คุณหาจุดจอดจักรยานที่ปลอดภัยได้แล้วนะครับ เพราะอย่างแรกที่คุณต้องทำในการป้องกันจักรยานของคุณถูกขโมยคือ การหาจุดจอดที่ปลอดภัยซึ่งแนะนำว่าควรเป็นจุดที่เขาทำไว้สำหรับจอดจักรยานและมีพื้นที่ให้เราได้คล้องโซ่หรืออุปกรณ์ล็อคจักรยานเรากับรั้วล็อคที่เขาเตรียมไว้ให้ หรือมีเจ้าหน้ารักษาความปลอดภัยคอยดูแล แต่หากต้องจอดในบริเวณที่ไม่มีที่จอดเฉพาะก็ให้พยามหาจุดที่เราสามารถที่คล้องล็อคเฟรมจักรยานไว้ได้อย่างแน่นหนา เช่น ต้นไม้ใหญ่ เสาไฟ ป้ายบอกทางต่างๆ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการยกไปทั้งคันนั่นเอง สำหรับวิธีการคล้องโซ่ล็อคจักรยานก็ลองทำแบบที่ผมทำดูครับ

1. ล็อคทั้งล้อหน้าและล้อหลัง โดยเฉพาะรถจักรยานที่มีดุมแบบปลดล้อเร็วทั้งหลาย ควรจะคล้องสายล็อคที่คุณคิดว่ามันแข็งแรงที่สุดเอาไว้กับเฟรมรถ เพื่อป้องกันการถอดล้อ

2. ล็อคล้อโยงกับจานโซ่หน้าจักรยาน การล็อคแบบนี้เราอาจจะใช้โซ่ล็อคคล้องลอดระหว่างเฟรมกับจานโซ่หน้า เป็นอีกจุดหนึ่งที่ช่วยประวิงเวลาจากการขโมยได้

3. ถอดล้อไปด้วย วิธีนี้หลายคนนิยมทำเหมือนกันเพราะเราจะล็อคเพียงแค่เฟรมจักรยานเอาไว้โดยไม่ต้องห่วงว่าหัวขโมยจะมาช่วยคุณถอดล้อ

4. ถอดเบาะ วิธีการนี้หลายคนอาจะมองคุณแบบแปลกๆ แต่เชื่อเถอะครับการถอดเบาะออกนั้นช่วยได้เยอะเหมือนกันเพราะเจ้าหัวขโมยไม่สามารถปั่นได้ ถึงปั่นได้ก็ยืนปั่นอย่างเดียวล่ะ(ฮา) วิธีนี้บางท่านบอกว่าถอดเบาะยากต้องใช้เครื่องมือ อันที่จริงผมหมายถึงการถอดหลักอานจักรยานออกไปนั่นล่ะครับ ยิ่งจักรยานรุ่นใหม่ราคาแพงสมัยนี้หลักอานเป็นแบบปลดเร็วทั้งนั้น เพียงแค่ถอดออกไปใส่เป้แค่นี้เรียบร้อยครับ

สำหรับทุกวิธีที่ผมเขียนนี้หลายท่านอาจจะใช้อยู่บ้างแล้วหรือบางท่านยังไม่ได้เคยใช้วิธีเหล่านี้ก็ลองดูครับ ยอมเสียเวลากับการมองหาที่จอดที่ปลอดภัยและล็อคจักรยานคันโปรดของเราให้แน่นหนาดีกว่าจะต้องมาถูกโจรกรรมไป แล้วมานั่งเจ็บใจทีหลัง

ลองชมคลิปนี้ครับ เขาทดสอบว่าที่ล็อคจักรยานนั้นใช้ได้แค่ไหน


คลิปจาก M. Molli สมาชิก youtube




วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เมื่อคนชอบจักรยาน ลุกขึ้นมาทำสติ๊กเกอร์ไลน์กับเขาบ้าง

หลังจากที่ผลัดวันประพรุ่งไปเรื่อยกับเรื่องของการทำสติ๊กเกอร์ไลน์สำหรับคนที่ชอบปั่นจักรยานมาตั้งแต่ต้นปี แม้นจะมีเพื่อนพ้องน้องพี่หลายคนแนะนำให้ผมลองทำออกมาแต่ผมก็ผลัดไปเรื่อยด้วยเหตุผลล้านแปดแต่หลักๆก็ขี้เกียจนั่นล่ะ(ฮา) แต่ในที่สุดวันหนึ่งผมก็มีลูกฮึดลุกตื่นขึ้นมาแต่เช้าแล้วลุยทำสติ๊กเกอร์แบบรวดเดียวเสร็จ เพื่อเอาใจเพื่อนนักปั่นชอบแชตที่อยากมีสติ๊กเกอร์ไลน์แนวสนุกๆบ้าๆบอๆเน้นอารมณ์ความมันส์มากกว่าความน่ารักแบบคิคุอาโนเนะ คาวาอี้ เอาไว้ส่งหากันแทนการพิมพ์ตัวอักษร ใครสนใจก็เข้าไปโหลดมาใช้กันได้นะครับ สำหรับสติ๊กเกอร์ไลน์ชุด "คนปั่นเมือง" พิมพ์ชื่อนี้คนหาในร้านค้าสติ๊กเกอร์ได้เลย หรือจะเข้าไปตามลิิงค์ http://line.me/S/sticker/1208070 ก็ได้ครับ ชุดนี้เป็นชุดแรกเดี๋ยวจะทำชุดสองออกมาถ้าไฟไม่หมอดไปเสียก่อน (ฮา)


วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ไอ้หย๋า...ปั่นจักรยานเหยียบงู เผชิญหน้ากับเหี้ย

ปกติการปั่นจักรยานของคนเมืองกรุงนั้นต้องบอกว่าโอกาสมันน้อยนิดมากๆที่จะปั่นจักรยานแล้วไปป๊ะเท่งป๊ะกับสัตว์ป่าตัวเขื่อง แต่ไม่ใช่ว่าโอกาสมันจะเกิดไม่ได้แม้นจะเป็นการปั่นจักรยานอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรกลางเมืองแท้ๆ
เจ้าดำพับไร้เกียร์คันนี้ล่ะครับที่พาผมไปฟิน
กรณีแรกเมื่อหลายอาทิตย์ก่อนขณะที่ผมกำลังเกิดอารมณ์ฟิน ก็เลยควบเจ้าจักรยานพับคันน้อยของผมออกไปปั่นเสริมความฟินให้ตัวเอง ระหว่างที่ปั่นไปส่งยิ้มกับสาวๆไปนั่นเอง "ปึ่ก!!" เสียงเหมือนเหยียบอะไรเข้าไป ผมรีบชะลอรถแล้วหันกลับไปมอง "ไอ้หย๋า!! งู " ผมไม่ใช่นักสัตววิทยาก็เลยไม่มีความรู้เรื่องงูจึงบอกไม่ได้ว่ามันเป็นงูอะไร แต่ที่แน่นๆมันโดนเหยียบซี้แหงแก๋อยู่บนถนน และโชคดีที่ผมไม่ใช่คนแรกที่เหยียบเพราะหากมันเป็นงูมีพิษแล้วมันเกิดตกใจหันมาฉกผม ความฟินของผมคงจบลงแค่วันนั้น

นี่ไม่ใช่กรณีแรกที่ผมพบเห็นสัตว์ป่าที่ไม่ควรจะออกมาอยู่บนถนนให้เสี่ยงกับการถูกรถทับ เพราะหลังจากวันที่เหยีบงูผมก็เห็นตัววรนุช(ชื่อใหม่ของคุณตัวเงินตัวทอง หรือคุณเหี้ย ในภาษาเดิมๆ) ตัวใหญ่ยาวประมาณหนึ่งเมตร ยืนจังก้าอยู่บนถนนประดิษฐ์มนูธรรม ช่วงก่อนถึงแยกไปเกษตร ท่าทางของมันทั้งกลัวทั้งตกใจ เพราะเป็นช่วงเวลาเร่งด่วนตอนเช้าซึ่งรถเยอะมากวิ่งกันขวั่กไขว่ ท่าทางของมันเหลียวซ้ายแลขวาอ้าปากขู่รถที่วิ่งผ่าน ผมสังเกตุเห็นแผลบริเวณหางของมันซึ่งน่าจะโดนรถทับมีเลือดไหล แต่ผมเองก็ไม่สามารถจะเข้าไปช่วยมันได้และไม่สามารถหยุดรถเพื่อถ่ายภาพเพราะมันอยู่มุมถนนด้านในส่วนผมอยู่เลนด้านซ้ายเพราะปั่นจักรยาน

เมื่อเห็นแบบนี้ทำให้ผมคิดว่าโลกใบนี้มีสิ่งต่างๆมากมายที่ไม่สามารถเรียกร้องสิทธิในถิ่นที่อยู่เดิมของพวกมันได้เหมือนอย่างที่พวกเราที่เป็นมนุษย์เรียกร้อง พวกมันอยากปลอดภัย พวกมันอยากมีชีวิตที่ปกติได้มีพื้นที่ๆหากินแต่ทุกวันนี้เรารุกรานพวกมัน แย่งพื้นที่อาศัยพื้นที่หากินของพวกมันแถมบางคนยังตั้งข้อรังเกียจพวกมันเสียอีก



ดังนั้นต่อไปนี้เวลาไปปั่นจักรยานผมคงต้องระวังให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่รถแต่คงต้องระวังเพื่อนร่วมโลกเหล่านี้ด้วย "เพราะฉันไม่อยากชนหรือเหยียบพวกนายหรอกเพื่อน"

วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

เราทุกคนคือเหยื่อ

เราทุกคนคือเหยื่อ

ผู้ที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันนั้นที่จริงมีมานานแล้วและมีมาก่อนกระแสสังคมจักรยานแฟชั่นจะกำเนิดเกิดขึ้น พวกเขาเหล่านั้นใช้ชีวิตร่วมกันกับยานพาหนะชนิดอื่นได้โดยไม่ขัดเขิน ไม่ต้องเติมแต่งก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่ทุกวันนี้สังคมจักรยานแบบกระแสได้เข้ามาและพยามสร้างบทบาทเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหมายถึงโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน (Infrastructure)เพียงตอบสนองความต้องการทางไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) ของชีวิตเท่านั้น ไม่ได้มองถึงองค์ประกอบอื่นๆที่มากไปกว่านั้น

ผมเองใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ไม่ได้มาจากการที่ผมโลกสวยหรือเพราะแฟชั่น แต่ผมใช้เพราะมันจำเป็นสำหรับผม เพราะมันทำให้ผมลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันที่แพงหูดับแบบไม่เกรงใจประชาชน ผมลุกขึ้นมาปั่นจักรยานและไม่เคยเรียกร้องว่ารัฐต้องมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ มีหลายคนที่ไม่พอใจและมองว่าผมไม่เข้าใจและถามว่าผมเป็นคนกลุ่มไหนในสังคมจักรยาน

สังคมจักรยานถูกแบ่งออกเป็นรูปแบบพีระมิดมีสามส่วน ส่วนยอดสุดที่มีจำนวนน้อยที่สุดคือกลุ่มนักแข่งขันจักรยาน กลุ่มตรงกลางคือกลุ่มที่เป็นสีสันของสังคมจักรยาน กลุ่มนี้รวมถึงกลุ่มที่ปั่นเพื่อสุขภาพ ปั่นตามเพื่อนๆคนรอบตัว หรือเพราะเขาฮิตฉันก็ฮิตด้วย ซึ่งหมายถึงกลุ่มแฟชั่นจักรยาน คนกลุ่มนี้จะจัดเต็มตั้งแต่รถจักรยาน เครื่องแต่งกายที่ราวกับจะไปแข่งตรูเดอฟร้อง นิยมปั่นเป็นกลุ่ม ปั่นไปถ่ายรูปเซลฟี่ไป ปั่นกันเฉพาะวันหยุดหรือเวลาเย็นๆเพื่อออกกำลังกายเท่านั้น และกลุ่มสุดท้ายที่เก่าแก่และมีจำนวนมากที่สุดที่อยู่ฐานล่างของพีระมิดนั่นคือ กลุ่มผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน

หลายคนสับสนและไม่เข้าใจว่ากลุ่มแฟชั่นกับกลุ่มผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันต่างกันอย่างไร มันต่างกันตรงที่ผู้ใช้ในชีวิตประจำวันเขาใช้จักรยานในการเดินทาง ไปธุระ ไปซื้อของ ไปส่งบุตรหลานไปโรงเรียน หรือใช้ไปทำงาน กลุ่มนี้จึงมีความคล้ายคลึงกับกลุ่มแฟชั่นและคนในกลุ่มแฟชั่นบางคนก็เปลี่ยนตัวเองมาเป็นคนกลุ่มนี้  ดังนั้นเข้าใจให้ตรงกัน ผมไม่ได้แบ่งคนสองกลุ่มนี้จากชนิดของจักรยาน ราคาของจักรยาน หรือเสื้อผ้าหน้าผมรวมถึงอุปกรณ์ แต่แบ่งตามลักษณะการใช้งาน ย้ำว่าแบ่งกันตามลักษณะการใช้งานไม่ใช่แบ่งที่การแต่งตัว ชนิดหรือราคาของจักรยาน


มาเข้าเรื่องโครงสร้างพื้นฐานกันต่อ โครงสร้างพื้นฐาน หรือสาธารณูปโภคพื้นฐานในส่วนนี้ผมหมายถึงเฉพาะถนนที่ใช้ในการคมนาคม เรามามองกันตามหลักความเป็นจริง ถนนในเมืองกรุงเทพมีความกว้างแบ่งช่องจารจรได้ 2-3ช่องทาง ซึ่งทุกวันนี้โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วนรถมันก็เต็มทุกช่องจารจร เบียดกันจนกระจกข้างแทบจะเกี่ยวกัน แล้วอยู่มาวันหนึ่งพวกเราชาวจักรยานก็ลุกขึ้นมาบอกว่าพวกฉันปั่นจักรยานไม่สะดวก ปั่นแล้วเดี๋ยวรถชน ให้แบ่งช่องถนนออกมาเพื่อจักรยานหนึ่งช่อง บางคนก็บอกกว้าง1เมตร บางคนบอกจะเอา2เมตร ถามจริงๆเถอะครับ ไอ้ถนนที่มันมีอยู่ทุกวันนี้มันก็ไม่เพียงพอต่อการจารจรโดยยานพหนะหลักอยู่แล้ว จะให้แบ่งมาให้พวกเราที่ไม่ได้ใช้จักรยานเดินทางเพียงกี่คนมาใช้ มันคุ้มกันหรือเปล่า แล้วไปสอบถามคนที่เขาใช้ยานพาหนะชนิดอื่นหรือยังครับว่าเขารู้สึกเห็นด้วยหรือไม่ ที่ผ่านมาตีสีแบ่งเส้นเป็นช่องจักรยานผมถามจริงๆเคยมีคนเอาเครื่องมือไปนั่งกดนับแบบคนเข้าห้างน่ะ ลองดูสิครับว่าวันหนึ่งมันมีกี่คนที่ใช้จักรยานสัญจร เพราะผมทั้งปั่นจักรยาน ทั้งขี่มอเตอร์ไซด์ ทั้งขับรถยนต์ในกรุงเทพมายี่สิบกว่าปี ผมว่าผมนั่งเช้ายันเย็นเห็นจักรยานใช้กันไม่เกินสิบคันถ้าไม่มีการจัดอีเว้นท์นะ แล้วจะให้คนส่วนใหญ่เขาต้องเสียพื้นที่ในการสัญจรที่มีอยู่น้อยนิดอยู่แล้วให้หรือครับ
เหมือนกับที่บางคนบอกทางจักรยานที่มีมันไม่ดีปั่นไม่ได้ มีคนเอาของมาตั้งขวาง มีมอเตอร์ไซด์วิ่งสวน มีรถมาจอด ผมตอบให้ก็ได้ก็เพราะมันไม่มีจักรยานมาใช้ยังไงล่ะครับ บอกแล้วว่านั่งนับดูสินับแบบไม่ตอแหลไม่สร้างภาพแล้วดูสิครับว่าหนึ่งชั่วโมงมีจักรยานผ่านมาใช้กี่คน หนึ่งวันมีจักรยานใช้กี่คัน มันไม่มีเพราะบางคนที่เรียกร้องก็ไม่ได้ใช้จักรยานในการเดินทางในชีวิตประจำวันจริงๆเลยด้วยซ้ำ ผมกล้าพูดแบบนี้ผมพูดตรงๆใครจะคิดยังไงก็อยู่ตัวเขาเหล่านั้นว่าอยากจะโกหกตัวเองหรือสังคมมากแค่ไหนก็ตามใจเพราะมีบางคนถามว่าผมเป็นคนกลุ่มไหนในพีระมิด ผมอยากให้ถามว่าผมเห็นคนกี่คนใช้จักรยานเดินทางในชีวิตประจำวันจะดีกว่า แล้วย้อนกลับไปที่ตัวคนถามด้วยว่าใช้จักรยานแบบไหน ตอบตรงๆไม่ต้องโกหกแล้วคุณจะรู้เองว่าการไปเปียดบังพื้นที่การจารจรหลักนั้นมันจำเป็นหรือไม่

การที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐทำโน่นนี่นั่นผมจึงมองว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ตรงประเด็นนักหากกลุ่มที่เรียกร้องมองแค่ว่าฉันจะได้มีที่ปั่นจักรยานเป็นกลุ่มๆได้ มีที่ปั่นออกกำลังกายผมว่ามันผิดถนัดเลยล่ะ ถ้าอยากรวมกลุ่มปั่นจักรยานออกกำลังกายปั่นแถวบ้านก็ได้ ปั่นในตรอกในซอยหรือสวนสาธารณะแถวบ้านหรือบางหมู่บ้านมีพื้นที่มีสวนสาธารณะก็สามารถใช้ได้ไม่จำเป็นต้องให้รัฐไปตีสีขีดเส้นแบ่งถนนในการสัญจรหลักเฉพาะจักรยานหรอก ขืนทำแบบนั้นเกิดพวกขี่มอเตอร์ไซด์บอกผมอยากได้เลนมอเตอร์ไซด์เพราะวิ่งตามรถยนต์มันช้า มันอันตรายเดี๋ยวไปเกี่ยวกับรถยนต์แล้วล้ม วิ่งขวาก็ไม่ได้คุณตำรวจเขาจับทั้งที่รถมอเตอร์ไซด์ก็วิ่งได้เร็วไม่แพ้รถยนต์ยิ่งบิ๊กไบค์นี่วิ่งได้เร็วรถยนต์เสียอีก เป็นแบบนั้นคุณว่าเขามีสิทธิเรียกร้องไหมล่ะ ผมว่ามีนะ...และถ้าเขาเกิดรวมตัวกันเรียกร้องขึ้นมาแบบกลุ่มจักรยานแฟชั่นจะทำอย่างไร มันไม่ยุ่งตายห่ะเรอะครับ คนใช้มอเตอร์ไซด์มากกว่าคนใช้จักรยานแบบเทียบไม่ติดซะด้วย

ดังนั้นที่ผ่านมาผมพยามบอกกับทุกคนที่ผมรู้จักและที่มีโอกาสได้พูดคุยด้วยในเรื่องการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันว่า "จักรยานใช้ในการเดินทางได้ และมันอันตราย ไม่ต่างจากพาหนะชนิดอื่น เราจึงต้องมีความระมัดระวังเสมอ" สำหรับผมตราบใดที่ยังมีผู้ใช้จักรยานเดินทางในชีวิตประจำวันแทนยานพาหนะหลักเป็นจำนวนที่ไม่มากกว่าที่เป็นอยู่ มันก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงสร้างขนาดใหญ่เพราะที่ผ่านมามันเป็นการทำเพื่อการท่องเที่ยวมากกว่าใช้ในการสัญจรจริงๆ และถ้าอยากจะเริ่มให้สังคมไทยเป็นสังคมจักรยานมันต้องเริ่มต้นที่ระเบียบวินัยในการขับขี่ การเคารพกฏจารจร เคารพสิทธิของกันและกัน รู้จักแบ่งปันเอื้อเฟื้อกันในการสัญจร และหากจะทำก็ควรจะเริ่มที่จุดเชื่อมต่อถนนหรือทางข้ามทางกลับรถให้สะดวกและปลอดภัยขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องแบกจักรยานข้ามสะพานลอยทุกครั้ง(ตอนนี้ผมยังนิยมแบกจักรยานข้ามสะพานลอยเสมอ) ส่วนเส้นทางถนนหลักนั้นผมปั่นไปทำงานปั่นไปเที่ยวผมก็ไม่เคยรู้สึกว่ามันเป็นปัญหา ปัญหาของผมมีอย่างเดียวคือเวลานี้คนบางกลุ่มเริ่มไม่พอใจคนที่ปั่นจักรยานบนถนนเสียแล้ว



ผมเขียนบทความนี้เพราะผมหมายความแบบนั้นจริงๆหากเราพร่ำเพ้อเรียกร้องให้รัฐทำอะไรๆเพื่อสนองตัญหาโดยไม่ยอมมองที่ความเป็นจริง สิ่งที่เราจะการตอบรับจากกระแสตรงนี้คือ การร่วมมือกันระหว่างรัฐ นักการเมือง และนักธุรกิจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากกระแสชิ้นเนื้อนี้โดย "เราทุกคนคือเหยื่อ" เหยื่ออันโอชะสำหรับผู้ที่หวังเข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากเรา จากกระแสสังคมที่เกิดโดยพวกเราผู้ที่ใช้จักรยาน ที่ไม่สามารถแยกแยะได้ระหว่างความจำเป็นพื้นฐานของสังคมส่วนใหญ่กับตัญหาส่วนตัว

วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558

หลงจักรยานไม่เท่าไหร่ แต่หลงทางนี่สิ เสียฟอร์มเลย lost touring bike

ไม่ได้เขียนบล็อคมานานเพราะช่วงนี้ตัวผมเองมีงานที่ต้องทำค่อนข้างมากทำให้ไม่ค่อยมีเวลาออกไปตะแล็ดแต๊ะเต๋ที่ไหน นอนจากนั่งจ่อมอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน เริ่มรู้สึกสายตาย่ำแย่มากขึ้นเพราะต้องจ้องมองแสงจากเครื่องคอมทั้งวัน

วันนี้ผมนั่งเปิดหารูปภาพสวยๆไปเรื่อยๆและมาเจอรูปของกลุ่มนักปั่นจักรยานท่องเที่ยวกลุ่มนี้ทำให้นึกถึงครั้งที่ผมออกไปปั่นจักรยานครั้งหนึ่งที่จริงก็แถวๆบ้านนั่นล่ะครับ แต่เชื่อหรือไม่ผมกลับต้องหลงทางทั้งที่มันไม่ควรจะหลง(ฮา)

ประเด็นมันอยู่ตรงที่บางครั้งเรามองหาแต่เป้าหายที่ไกลตัวแต่พอสถานที่ใกล้ตัวเรากลับไม่รู้จักมัน ผมปั่นจักรยานวนไปวนมา หลงไปหลงมาด้วยความไม่คุ้นจากรามอินทราไปโผล่เอารังสิตแถวๆคลองห้า ซึ่งพอไปถึงรังสิตผมก็จำได้ว่ามีเพื่อนอยู่ที่รังสิตจึงโทรตามเพื่อนออกมานั่งกินก๋วยเตี๋ยวเรือกัน แอบอ้างกับเพื่อนว่าเราคิดถึงมันเลยปั่นจักรยานมาหา ไม่กล้าบอกว่าที่จริงกรูหลงทางมา(ฮา)

ระหว่างนั่งกินก๋วยเตี๋ยวก็ค่อยๆถามทางเพื่อนไปเรื่อยๆพร้อมบอกทางที่เราปั่นผ่านมาก่อนจะถามว่าเราจะกลับทางไหนใกล้ที่สุดเพราะกลัวจะมืดค่ำเสียก่อน เพื่อนผมก็แนะนำเส้นทางให้ ก่อนทิ้งท้ายว่า มรึงนี่เก่งนะปั่นจักรยานอ้อมไปวนมาจนมาโผล่ที่นี่ทำไม ปั่นกลับทางนี้สิไม่ไกล แค่สิบกว่ากิโลก็ถึงแล้ว

เฮ้อ...ก่อนที่ผมจะปั่นจักรยานไปเที่ยวที่ต่างจังหวัดผมจะนั่งทำการบ้านตรวจเช็คเส้นทาง ระยะทาง แหล่งจุดแวะพักต่างๆอย่างรอบครอบและไม่เคยต้องหลงทาง แต่พอมาปั่นแถวบ้านตัวเองกลับหลงทางซะงั้น แบบนี้จะด่าตัวเองว่าอย่างไรดี(ฮา)




วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2558

เที่ยวทะเลคลายร้อน กับที่พักราคาเบาๆช่วงเทศกาล

ช่วงวันสงกรานต์ที่ผ่านมาอยู่ๆผมก็เกิดอาการติสต์แตกเพราะอากาศที่ร้อนระบมจนไขมันเดือดไปทั้งตัว ครั้งจะไปเดินห้างอาศัยแอร์ก็เกรงใจเจ้าของห้างและร้านกาแฟพวกเขาคงจะจำหน้าผมได้เพราะมันมาซื้อกาแฟแก้วเดียวนั่งชิวซะเกือบสามชั่วโมง(ฮา)

แต่จะให้นั่งอุดอู้เป็นหมูกระป๋องอยู่บ้านก็ไม่ไหว หากจะเปิดแอร์สู้อากาศร้อนทั้งวันก็เกรงใจกระเป๋าเงินเวลาการไฟฟ้าเขาส่งบิลมาเก็บตังค์ก็เลยเกิดอาการติ๊ดส์แตกอยากไปที่มีน้ำมีสายลมมีกลิ่นไอธรรมชาติโดยคิดเอาเองว่าถ้าได้ไปในที่แบบนี้ไอเดียเรื่องงานที่รับเขามาทำเพื่อเสนอตัวอย่างช่วงหลังสงกรานต์คงจะพุ่งกระฉูด จึงตัดสินใจไปเที่ยวทะเลดีกว่า เพราะมันเข้ากับธีมฤดูร้อนเมษาฮาวายพอดิบพอดี(ฮา)

เมื่ออารมณ์และความคิดฟุ้งซ่านมันระเบิดก็เลยตัดสินใจออกจากบ้านตอนสายๆ เดินทางสบายๆลัดเลาะมาเรื่อยเปื่อยก่อนตัดออกเส้นบายพาสเลี่ยงตัวเมืองชลบุรี ก่อนเลี้ยวเบี่ยงขวามุ่งหน้าวิ่งเส้นเลียบทางรถไฟพัทยาและลัดเลาะดิ่งเข้าสัตหีบโดยพยามเลี่ยงการใช้เส้นทางผ่านตัวเมืองให้มากที่สุดเพราะผมไม่อยากไปเจอกับสงครามน้ำจนทำให้รถติดแหง่ก โดยมีจุดหมายคือ "หาดเตยงาม"

ที่จริงผมเคยมาหาดเตยงาม2-3ครั้งแล้ว และครั้งนี้เมื่ออยากจะมาเที่ยวทะเลสัตหีบทำให้ผมนึกถึงหาดเตยงามเป็นที่แรก เพราะชอบในความสะอาด หาดนี้ได้รับการดูแลโดยนาวิกโยทินทหารเรือ ทำให้ผมมีความรู้สึกว่าหาดที่นี่ปลอดภัย และน่าลงเล่นน้ำมากกว่าที่บางแสนมากๆ เวลาเล่นน้ำก็ไม่ต้องกังวลกับเจ็ทสกี บานานาโบ๊ทและที่แน่ๆเมื่อผมมาที่หาดเตยงามผมไม่ต้องเจอกับกองทัพร่มที่นั่งก็ต้องจ่ายเงินค่าเก้าอี้ผ้าใบ แถมคนเยอะยังกับรังมด ยิ่งช่วงที่ผมไปมันเริ่มเข้าสู่เทศกาลวันไหลของชาวชลบุรี ยิ่งทำให้ผมต้องเลี่ยงไปชายหาดชื่อดังแห่งนี้

ผมมาถึงหาดเตยเงาเอาช่วงเย็นผมจึงเปลี่ยนแผนไม่เข้าไปเล่นน้ำโดยคิดว่าไว้มาเล่นพรุ่งนี้ เพราะที่หาดเตยงามเขาจะมีเวลาเข้าออกเป็นเวลาไม่ได้เปิดโอเพ่นเหมือนพัทยาบางแสน เพราะหาดนี้อยู่ในเขตทหารเรือ สำหรับการขับรถยนต์มาก่อนเข้าต้องแลกบัตรและบันทึกเลขทะเบียนรถทุกคันเพื่อความปลอดภัย หลังจากแลกบัตรแล้วก็ขับรถต่อไปอีกประมาณ 1กิโล ก็จะเจอชายหาด ที่นี่มีการควบคุมเรื่องความสะอาดและการกินดื่มเพราะเขาเข้มงวด ดังนั้นมาที่นี่สบายใจได้ว่าเราจะไม่เจอกลุ่มขี้เมาที่เปลี่ยนบรรยากาศที่กินเหล้า ใครมีครอบครัวมาเที่ยวที่นี่รับรองว่าปลอดภัยครับ

เมื่อเปลี่ยนแผนก็ต้องหาที่พัก เพราะมันเริ่มเย็นแล้วก็เลยออกไปตั้งหลักแถววัดหลวงพ่ออี๋พลางนึกว่าค่ำแล้วๆๆ คืนนี้ตรูจะนอนที่ไหน(ฟร่ะ)เพราะเดินทางมาครั้งนี้มาแบบอารมณ์ติตส์พามาไม่ได้เตรียมตัวเรื่องที่พัก รวมถึงเสื้อผ้าก็มีมาแค่สองชุด คือชุดใส่มา+ลงเล่นน้ำทะเล และชุดใส่กลับ ยิ่งช่วงเทศกาลแบบนี้ด้วยคงจะหาที่พักลำบากจะกางเต๊นท์นอนริมหาดก็ไม่ได้เอาเต๊นท์มา(เฮ้อ...) แต่ก็อยากจะอยู่เที่ยวอีกวันสองวันผมจึงใช้การเดินเข้าไปถามหาที่พักว่ามีที่ไหนว่างบ้าง และก็โชคดีที่ได้ที่พักของฝ่ายกิจการทหารเรือซึ่งมีห้องพักให้บริการและข้อสำคัญไม่แพง คนธรรมดาสามัญแบบผมจ่ายคืนละ750บาท แต่ถ้าเป็นข้าราชการเขามีส่วนลดให้อีกเหลือเพียงคืนละ550เท่านั้น

ห้องพักที่ผมเข้าพักนั้นเจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นอาคารเก่ายังไม่ปรับปรุงแต่ก็มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบ แถมมีฟรีไวไฟให้ด้วย ผมไม่คิดมากตอบตกลงทันทีเพราะมันเหลืออยู่ห้องเดียวขืนลีลามีหวังนอนข้างถนน(ฮา) ที่นี่เขามีร้านอาหารไว้บริการแถมอาหารก็ราคาไม่แพง อาหารจานเดียวเฉลี่ยจานละ60บาท และตอนเช้าก็มีชุดอาหารเช้า ราคา80บาท ก็กินได้พอดีอิ่ม แต่ผมขอเบิ้ลข้าวผัดกระเผาทะเลอีกจาน(ฮา)


"ห้องพักที่ได้ ราคานี้ติดหาดผมว่าคุ้ม"
บรรยากาศด้านหน้า
"ผมได้ที่ซุกหัวที่นี่(ฮา)"
"นี่เลยครับเดิมดุ่มๆเข้าไปถามเขาเลย"
คืนแรกผ่านเช้าวันรุ่งขึ้นผมตื่นมาแล้วเดินไปตลาดสัตหีบ เพื่อจะหาของกินแต่พอไปถึงปรากฎว่าของกินมีไม่เยอะเพราะส่วนมากเป็นของสดมากกว่า แต่ผมก็ได้ทอดมันมาหนึ่งกระทงกับข้าวมันอะไรก็ไม่รู้จำชื่อไม่ได้รดชาดอร่อยดีพอแก้ขัดก่อนมาจบที่ร้านอาหารของที่พักเช่นเดิม(แล้วตรูจะเดินไปทำไมฟะ ฮา) พอสายๆผมก็ไปเที่ยวหาดเตยงาม วันนี้คนค่อนข้างมากเพราะเป็นช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ทำให้หาที่นั่งลำบากอยู่เหมือนกัน ผมลงเล่นน้ำที่นี่จนเย็นก่อนจะกลับที่พักและม่อยหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย

พักชมภาพบรรยากาศของตลาดเช้าสัตหีบ







เช้าวันที่สองของการพักหลังจัดการอาหารเช้าเรียบร้อย ผมก็ออกไปเที่ยวหาดดงตาล ซึ่งก็เป็นหาดของทหารเรืออีกเช่นเคยแต่หาดดงตาลจะอยู่ใกล้กับที่พักแบบเดินไปได้ ผมจึงไปเที่ยวที่หาดดงตาล แต่ที่นี่บอกก่อนนะครับว่าผมค่อนข้างผิดหวังเพราะมันไม่สะอาดเหมือนหาดเตยงามอาจจะเพราะมันอยู่ใกล้กับแหล่งการทำประมงด้วยและมีกลุ่มเปลี่ยนบรรยากาศกินเหล้าเต็มไปหมด ทำเอาผมเสียอารมณ์พอสมควร แถมในบริเวณหาดดงตาลเขามีพื้นที่อนุรักษ์เต่าทะเล ซึ่งเขาจะกันแนวเชือกไว้ไม่ให้เข้าไปเล่นน้ำหรือนั่งในบริเวณนั้น แต่คนไทยครับ ไม่มีความหมาย กฎข้อห้ามไม่เคยสนใจ บางคนเข้าไปนั่งเซลฟี่หน้าตัวเองข้างๆป้ายห้ามด้วยซ้ำ เห็นแล้วปลงกับพฤติกรรมของคนไทยจริงๆ
"หากดงตาลบางส่วนดูเป็นเลนและไม่สะอาดเหมือนหาดเตยงาม"

วันศุกร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2558

ใช้จักรยานในเมืองอันตรายจริงหรือ?


ผมนั่งเถียงกับเพื่อนหน้าดำคร่ำเครียดเรื่องการใช้จักรยานบนถนน เพื่อนบอกว่าเมืองไทยร้อนจะตาย(ห่ะ) แถมรถก็เยอะไม่เหมาะกับการใช้จักรยานเป็นอย่างยิ่ง ส่วนผมก็บอกว่าก็เพราะรถมันเยอะจะตาย(ห่ะ)นั่นล่ะเลยต้องหันมาใช้จักรยาน และถ้าเราทุกคนคิดว่าเมืองไทยมันร้อนเลยต้องใช้รถยนต์ติดแอร์รถมันก็มีแต่จะเยอะขึ้นและก็ติดจะตาย(ห่ะ)เหมือนเดิม

เพื่อนผมมันก็บอกว่าก็ใช้มอเตอร์ไซด์ก็ได้นี่หว่า จักรยานมันอันตราย ผมก็ถามกลับไปว่า เคยเห็นข่าวรถมอเตอร์ไซด์คว่ำตายมั้ย เคยเห็นข่าวมอเตอร์ไซด์ถูกชนมั้ย เพื่อนผมก็บอกเคยสิเห็นบ่อยๆ ผมก็ว่านั่นน่ะสิ แล้วที่เพื่อน(มึง)บอกจักรยานมันอันตรายน่ะ ไอ้รถอื่นๆมันไม่อันตรายเรอะ ผม(กู)ไม่ได้บอกว่าจักรยานไม่อันตราย แต่จักรยานมันเคลื่อนที่ช้ากว่ามันก็อันตรายน้อยกว่าโดยทษฎีแต่ถ้ามันปั่นแบบโง่ๆอวดเก่งโชว์พาวแล้วโดนรถใหญ่สอยร่วงเป็นเศษเนื้อข้างเขียงหรือคุมรถไม่อยู่แหกโค้งล้มหัวกระแทกพื้นนั่นก็ถือว่ามันเปิดโอกาสให้อันตรายเข้ามาหามันเอง แต่ถ้าคุณเพื่อนคิดว่าปั่นเฉยๆก็อาจโดนรถใหญ่เชี่ยวชนได้ ถ้าแบบนั้นมันก็เหตุสุดวิสัยและมันไม่ได้เกิดกับจักรยานเท่านั้นแต่มันเกิดกับทุกคนไม่เว้นแม้นแต่คนเดินถนน ยืนรอรถเมล์หรือนั่งกินข้าวอยู่ข้างทาง

ดังนั้นถ้าจะสรุปเหตุการณ์แบบที่มีการชนกันของวัตถุสองสิ่ง เช่น รถยนต์กับจักรยาน หรือ จักรยานกับมอเตอร์ไซด์ มันก็ถือเป็นอุบัติเหตุ เพียงแต่เป็นอุบัติเหตุสองแบบ คือ

1.อุบัติเหตุจริงๆ ส่วนนี้มันเกิดขึ้นถึงแม้นว่าเรา(จักรยาน)หรือเขา(รถคู่กรณี)จะใช้ความระมัดระวังทั้งคู่ แต่ก็ยังเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้อาจจะเกิดแบบตรงๆระหว่าเรากับคู่กรณีหรือเราหรือคู่กรณีเป็นบุคลที่สามที่โดนหางเลขจากคนอื่น เช่น รถคันแรกเสียหลักชนคันที่สอง คันที่สองเลยเสียหลักมาชนเราหรือมีคราบน้ำมันหกบนถนนซึ่งกรณีแบบนี้มันสุดวิสัย มันก็เรียกว่าอุบัติเหตุจริงๆ

2.อุบัติเหตุที่มาจากการเปิดโอกาส ส่วนนี้ล่ะที่มันมีปัญหามากเพราะโดยหลักแล้วจักรยานเป็นยานพาหนะที่เดินทางได้ช้ากว่ายานพาหนะชนิดอื่น ดังนั้นหากคนใช้จักรยานไม่ทำเจ๋ง โชว์พาว ไม่เคารพกฎจารจร หรือไปปั่นต่อกันเป็นขบวนพาเรทเก่ะก่ะรถที่เขาเคลื่อนที่ได้เร็วกว่ามันก็เท่ากับว่าเป็นการกระทำที่เปิดโอกาสให้เกิดอุบัติเหตุนั่นเอง เพราะเมื่อคุณไปเก่ะก่ะแล้วเขาไม่สามารถหยุดได้ทันชนโครมหรือเฉี่ยวคุณล้มกลิ้ง คุณก็มาแหกปากโวยวายด่าทอยานพาหนะชนิดอื่น ผมมองว่าคนแบบนี้เป็นพวกเห็นแก่ได้เห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจและเป็นกลุ่มที่ทำให้สังคมผู้ใช้รถส่วนใหญ่รังเกียจคนใช้จักรยานในที่สุด

ดังนั้นใช้จักรยานเดินทางในชีวิตประจำวันมันอันตรายมั้ย สำหรับผมมันอันตรายไม่ต่างกับการขี่รถมอเตอร์ไซด์แต่โอกาสที่จะเจ็บตัวนั้นมันน้อยกว่าเพราะสำหรับผมการเดินทางด้วยจักรยานมันคือความเนิบนาบเคลื่อนที่อย่างช้าๆ แต่ถ้าปั่นแบบแข่งสปีดเป็นพวกขาแรงตรูเดอฟร้อง อันนี้ถ้าเกิดอะไรขึ้นก็ช่วยไม่ได้และไม่สงสารด้วยเพราะตามกฎหมายและตามสามัญสำนึกของมนุษย์ต้องเข้าใจว่า"ไม่ว่าจะเป็นรถจักรยาน มอเตอร์ไซด์หรือรถยนต์ ถนนไม่ใช่สนามแข่งขัน"


วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2558

ปัญหาการปั่นจักรยานกับสายฝน

เมื่อวันก่อนมีฝนตกหนักลงมา ผมเองไม่ได้รู้สึกกังวลใจอะไรมากนักกับฟ้าฝนเพราะจะปั่นจักรยานตากฝนหรือตากแดดมันไม่มีอะไรที่ต้องกังวลสำหรับผม อาจจะเพราะผมชินกับการที่เมื่อก่อนผมขี่รถมอเตอร์ไซด์ตากแดดโต้ฝนมาเป็นสิบปีมันจึงเป็นเรื่องธรรมดา แต่กับนักปั่นบางท่านที่ไม่เคยต้องตากแดดโต้ฝนมาก่อนอาจจะมีบ่นกันบ้าง แต่เชื่อไหมครับวันที่ฝนตกหนักผมปั่นจักรยานไปเรื่อยๆผ่านสายฝนไปช้าๆและมีคุณป้าสองท่านใช้จักรยานแม่บ้านปั่นไปกางร่มไปไม่มีเสียงบ่นจากป้าทั้งสอง แต่นักปั่นที่ชอบบอกว่าฉันคือเทพหลายคนแหกปากโวยวาย เห็นแล้วขำการจะเป็นเทพนี่มันลำบากจริงๆ ดังนั้นผมเลยขอยกตัวอย่างปัญหาที่ผมได้ยินมาเมื่อยามฝนตกให้ฟังว่าปัญหาไหนมันแก้ได้

ปัญหาที่หนึ่ง มันเปียก(ฮา) อันนี้เราคงนี้ไม่พ้นหรอกก็ฝนมันตกมันก็ต้องเปียกแน่ๆถึงจะใส่เสื้อกันฝนก็เหอะ มันก็ต้องมีส่วนที่เปียกไม่ว่าจะมือ แขน ขา หน้า เอาล่ะอย่าไปสนใจเลยถ้าเราจะปั่นจักรยานเพราะมันไม่มีหลังคาคลุมกันฝนเหมือนรถยนต์ดังนั้นถ้ากลัวเปียกมากนักก็อย่าปั่นนอนกอดจักรยานอยู่ที่บ้านก็ไม่มีใครตำหนิอะไร เห็นมั้ยล่ะปัญหานี้ตัดไปได้แล้ว

ปัญหาที่สองมันที่มากับสายฝนนอกจากเรื่องเปียกแล้วก็ยังมีเรื่องของลมที่บางครั้งมันก็แรงเอาเรื่อง ลมแรงๆที่มาพร้อมสายฝนเม็ดเป้งๆนี่ล่ะเจ็บแสบชะมัดยิ่งบวกกับความเร็วของจักรยานที่ปั่นฝ่าไปด้วยนี่ อูยยยย...สุดยอด แต่ก็บอกเลยว่ามันไม่แสบเท่าตอนขี่มอเตอร์ไซด์ลุยฝนแน่นอนเพราะไอ้แบบนั้นน่ะ โอย...โครตแสบ ดังนั้นเรื่องนี้ผมก็ทนได้(ฮา)

ปัญหาที่สาม น้ำใจ...ปัญหานี้มันแก้กันยากมากและเป็นปัญหาที่ผมในฐานะคนใช้จักรยานเดินทางในชีวิตประจำวันต้องเจอ ไม่ว่าวันนั้นฟ้าจะใสอากาศจะดีโครตๆหรือฝนจะตกกระหน่ำจนน้ำท่วมห้างแบบเมื่อวันก่อน เพราะปัญหาเรื่องน้ำใจของผู้ใช้รถบนถนนกับจักรยานมันทำให้ผมลำบากใจที่สุด ในที่นี้ผมไม่ได้หมายถึงผู้ใช้รถชนิดอื่นๆนิสัยแย่ฝ่ายเดียวนะครับ แต่ผมหมายถึงทั้งสองฝ่าย เพราะคนขี่จักรยานบางครั้งก็แย่และมีนิสัยห่วยแตกเห็นแก่ตัวและเข้าข้างตัวเองมากเสียจนน่ารำคานแม้นแต่ผมเองที่ใช้จักรยานก็ยังรังเกียจไอ้คนพวกนี้เลย

ดังนั้นสิ่งที่ผมคิดว่ามันคือปัญหาสำหรับการเดินทางด้วยจักรยานในชีวิตประจำวันของผมมันจึงไม่ใช่เรื่องของสภาพอากาศ เลนจักรยาน ที่จอดจักรยาน แต่มันมาจากนิสัยและพฤติกรรมการใช้ยานพาหนะของคนไทยต่างหาก การจะแก้ปัญหาของการใช้จักรยานให้ปลอดภัยไม่ใช่การสร้างเลนจักรยาน ทำแผนสวยหรูวิมานในอากาศ หรือการแหกปากโวยวายด่าทอฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ แต่มันต้องแก้ที่พฤติกรรม แก้ที่ความเข้าใจในเรื่องกฎหมาย การเคารพสิทธิของกันและกัน เคารพสิทธิของสังคมที่มีทั้งพฤตินัยและนิตินัย ซึ่งเรื่องพื้นฐานจากจิตใจนี่ล่ะครับที่มันจะทำให้สังคมในการเดินทางสัญจรปลอดภัยจริงๆ เพราะถ้าแก้ไม่ได้ก็ไร้ความหมายเพราะคนพวกนี้ก็จะไม่เคารพกฏ ไม่มีมารยาท และไร้ระเบียบวินัย เหมือนที่ผ่านๆมานั่นล่ะ

ดังนั้นที่ผมใช้จักรยานเดินทางในชีวิตประจำวันผมจึงไม่เคยเรียกร้องให้มาสนใจ ผมแค่ขอให้เข้าใจกันก็พอแล้ว เพราะถ้าเราอยู่บนพื้นฐานของการเข้าใจกัน เอื้ออาธรกัน และแบ่งปันกัน สังคมนั้นก็จะไร้ปัญหาไปเอง




วันเสาร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2558

ผิดที่ผิดทาง ก็ไม่มีความหมาย

ตามที่ได้มีการจัดสัมนาโต๊ะกลมเรื่อง "มาตรฐานที่จอดจักรยาน...บ้านเมืองของเรา" ของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพและกรมโยธาธิการเมื่อวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม 2558 ณ โรงแรมมิโด ถนนประดิภัทร์ที่ผ่านมา ผมเองก็มีโอกาสได้เข้าร่วมสัมนาในครั้งนี้ด้วย


จากการที่ผมได้เข้ารับฟังในที่ประชุมมีการเสนอถึงแนวทางในการจัดสร้างพื้นที่จอดจักรยานและพูดถึงรูปแบบการจัดการต่างๆโดยอิงรูปแบบการจัดการจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะจากญี่ปุ่นหรือฮอลแลนด์ ในส่วนนี้ทาง ดร.ธงชัย ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้กล่าวถึงแผนผังของกลุ่่มผู้ใช้จักรยานซึ่งแบ่งเป็นขั้นแบบพีระมิดสามชั้น โดยชั้นบนสุดก็คือกลุ่มที่เป็นนักแข่งจักรยานซึ่งในกลุ่มนี้มีจำนวนไม่มากและมีความชัดเจนที่มุ่งไปในการใช้จักรยานเพื่อเป็นกีฬาเท่านั้นซึ่งท่านก็บอกว่ามีน้อยมาก ส่วนกลุ่มที่สองที่อยู่ตรงกลางคือกลุ่มที่เราจะเรียกว่ากลุ่มนักจักรยาน(cyclists)คนกลุ่มนี้คือพวกที่ปั่นจักรยานเพื่อเป็นกิจรรมยามว่าง เพื่อใช้ในการท่องเที่ยว หรือรวมตัวกันจัดกิจกรรมงานอีเว้นจักรยานต่างๆแต่ส่วนตัวผมเรียกกลุ่มนี้ว่า"กลุ่มแฟชั่นจักรยาน" และกลุ่มสุดท้ายที่อยู่ล่างสุดของพีระมิตรแต่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดของผู้ใช้จักรยานกลุ่มนี้คือกลุ่มคนทั่วไปที่ใช้จักรยานเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวัน หรือบางครั้งกลุ่มนี้ถูกเรียกจากกลุ่มนักจักรยานว่ากลุ่มจักรยานแม่บ้าน ซึ่งท่าน ดร.ธงชัย เน้นว่าเราต้องให้ความสำคัญคนกลุ่มนี้ที่สุดเพราะนี่คือคนที่ใช้จักรยานตัวจริง

และในการสัมนาครั้งนี้จึงมีการเชิญกรมโยธาธิการและผังเมือง ตัวแทนผู้ประกอบการเอกชน เช่น ห้างสรรพสินค้า คอนวีเนียสโตร์ ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบวิชาชีพแขนงต่างๆและรวมถึงกลุ่มผู้ใช้จักรยานมาสัมนาร่วมกัน 

ผมนั่งฟังอย่างเงียบๆและมีส่งเสียงอะไรในที่ประชุมสัมนาเฝ้ารอฟังว่าเรื่องราวมันจะเป็นอย่างไร แต่ผลที่ผมรู้สึกก็คือมันผิดที่ผิดทาง เพราะหากเป้าหมายของงานในครั้งนี้ต้องการหาแนวทางในการจัดทำที่จอดจักรยาน ก็คงต้องถามกลับไปยังจุดเริ่มต้นว่า เรากำลังทำอะไร?

มองประเด็นแรก
ธุรกิจกลุ่มผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า-ตึกสูง-อาคารสำนักงาน 

"พื้นที่จอดจักรยานร่วมกับรถจักรยานยนต์ ห้างแฟชั่นไฮส์แลนด์"
คงจะมีแค่คำถามสั้นๆว่า ทำแล้วพวกเขาจะได้อะไร? หากเราตอบแบบกำปั้นทุบดินว่ามันเป็น Corporate Social Responsibility (CSR)ของธุรกิจเขา ทำแล้วเขาจะได้ลูกค้าเพิ่ม มันไม่ได้ใช้พื้นที่มากนัก มันก็ต้องมองกลับไปหลักความจริงว่าไม่มีโครงการ CSR ไหนที่ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงหรอกครับ เขาไม่ได้ผลประโยชน์เขาก็ไม่ทำ หากจะบอกว่าทำแล้วจะได้ลูกค้าเพิ่ม ก็ต้องถามว่า เพิ่มมาเท่าไหร่? เป็นคนกลุ่มไหน? เป็นฐานลูกค้าเก่าหรือใหม่? เพราะถ้าเป็นคนกลุ่มเดิมลูกค้ากลุ่มเดิมที่มาใช้บริการของเขาอยู่แล้วแม้นจะไม่ที่จอดจักรยานเขาก็มา แบบนั้นไร้ประโยชน์ที่จะไปบอกเขาให้สร้างเพิ่มเติม ดังนั้นผมมองว่าประเด็นแบบนี้เราเล่นเหมือนเด็กที่เอาแต่ใจ อยากได้โน่นนี่นั่น แต่เราไม่มองว่ามันมีประโยชน์มากน้อยแค่ไหนกับผู้ประกอบการตรงนั้น  ดังนั้นในส่วนนี้ผมคิดว่าไม่จำเป็นหรอกครับที่ถึงขั้นจะออกกฏมาควบคุมบังคับว่าพื้นที่ให้บริการเหล่านี้ต้องมีที่จอดจักรยานได้เท่านั้นเท่านี้คันตราบเท่าที่เราไม่สามารถตอบคำถามง่ายๆเหล่านั้นได้ แต่ให้มองย้อนกลับไปว่าห้างเหล่านั้นมีลานจอดรถจักรยานยนต์ให้บริการอยู่แล้วเราเพียงขอความร่วมมือเขาให้จัดบริการในการอำนวยความสะดวกในการดูแลและนำจักรยานเข้าไปจอดในลานจอดจักรยานยนต์ได้หรือไม่ ซึ่งผมบอกตามตรงเลยว่าเขาคงไม่ปฎิเสธเพราะที่ผ่านมาผมปั่นจักรยานไปห้างผมก็จอดที่จอดจักรยายนต์นั่นล่ะ มันไม่เปลืองพื้นที่ของเขาเพราะจักรยานกับจักรยานยนต์ใช้พื้นที่ในการจอด/คันใกล้เคียงกัน แล้วถ้าไปจอดในที่จอดจักรยานยนต์มันจะไปเก่ก่ะที่จอดเขาหรือไม่ ผมคิดว่ามันไม่มีปัญหามากเท่ากับไปบังคับเขาให้เปิดพื้นที่ใหม่หรอกนะครับ 

ในส่วนของสถานที่ราชการและองค์ท้องถิ่นต่างๆ

"ผมปั่นจักรยานไปทำงานบนถนนหลักทุกวัน"
ในที่ประชุมมีคุณผู้หญิงท่านหนึ่งซึ่งออกตัวว่าทำงานอยู่ที่อบจ,ในจังหวัดแห่งหนึ่ง มาแย้งว่าจะไปทำที่จอดจักรยานทำไมเพราะเจ้าหน้าที่ในอบจ.เองก็ไม่มีใครใช้จักรยานแต่ส่วนมากใช้รถจักรยานยนต์ แล้วผู้ที่มาติดต่อราชการก็ไม่มีใครใช้จักรยาน แล้วจะไปทำให้มันเสียงบประมาณทำไม ในส่วนนี้ผมก็มองเป็นประเด็นว่าเราจะไปสร้างกฏข้อบังคับว่าต้องมี มันก็ดูเหมือนเราเอาแต่ใจอีกเช่นเคยเพราะพื้นที่ราชการเหล่านี้มีลานจอดรถจักรยานยนต์อยู่แล้วเช่นกัน ดังนั้นเราสามารถขอความร่วมมือได้เช่นกันในการให้ราชการส่วนนั้นๆบริการและบริหารพื้นที่เพื่อจัดแบ่งในการจอดจักรยานร่วมกับจักรยานนต์จะไม่ดีกว่าหรือครับ ดีกว่าไปบอกเขาว่าต้องทำเพราะคุณมีพื้นที่เท่านั้นขนาดเท่านี้ตรม.มีคนทำงานเท่านี้คนมีคนมาติดต่อราชการเท่านั้นเท่านี้ต้องทำที่จอดจักรยานย่างน้อยกี่คัน ผมว่ามันเหมือเราแสดงความกร่างมากเกินไปหรือเปล่า นอกจากนั้นมีคุณผู้ชายอีกท่านบอกปั่นจักรยานจากบ้านมาทำงานแต่ไม่สามารถอาบน้ำได้ไม่สามารถต้อนรับแขกได้เพราะในห้องทำงานของท่านมีตู้ใส่เสื้อมีจักรยานจอดอยู่ ท่านบอกปั่นจากบ้านมา3-4กิโล ท่านบอกว่าควรจจะมีที่อาบน้ำผมอยากทราบว่ามันจำเป็นหรือครับ แล้วทำไมท่านต้องเอาจักรยานไปไว้ในห้องทำงาน ที่ทำงานไม่มีที่จอดรถจักรยานยนต์หรือครับจอดร่วมกับจักรยานยนต์ไม่ได้เพราะอะไรครับ ผมปั่นจักรยานจากบ้านไปทำงานระยะทางประมาณ20กิโล ไปกลับ40กิโล สมัยก่อนที่ทำงานผมไม่มีห้องอาบน้ำแต่ผมก็สามารถใช้เพียงผ้าขนหนูชุบน้ำในห้องน้ำมาเช็ดตัวก็ได้ หรือแม้นแต่วันที่มาสัมนาครั้งนี้ผมก็ปั่นจักรยานจากบ้านไปที่โรงแรมที่จัดสัมนาผมก็ไม่ได้อาบน้ำก่อนเข้าสัมนานะครับ จักรยานผมก็จอดที่ลานจอดจักรยานยนต์ ผมมองว่าเราเรียกร้องกันมากหากมองย้อนกลับที่พี่ผู้หญิงท่านแรกบอกว่าที่ทำงานท่านไม่มีใครปั่นจักรยานมาทำงาน แต่ที่ทำงานของคุณพี่ผู้ชายอีกท่านบอกท่านปั่นไปทำงานแล้วที่ทำงานนั้นมีกี่คนครับที่ปั่นจักรยานไปทำงาน คุ้มค่าหรือครับที่ต้องเอางบประมาณมาสร้างห้องอาบน้ำให้คนหนึ่งหรือสองคนอาบน้ำ คนที่มาติดต่อราชการมีคนปั่นจักรยานไปกี่คนแล้วเขาจะไปอาบน้ำอีกรอบหรือครับ คิดให้ดีก่อนว่ามันสิ้นเปลืองงบประมาณหรือเปล่าดีกว่าครับกับประเด็นนี้

เราจะทำที่จอดจักรยานอย่างไร เพื่อใคร?
"จักรยานของผมจอดในที่จอดวันไปสัมนา"
ในวันที่ประชุมกันท่าน ดร.ธงชัย ก็ออกมาย้ำสองรอบว่าให้ดูที่ตัวเลขว่าเราต้องการที่จอดจักรยานกี่คันในแต่ละสถานที่พร้อมยกตัวอย่างแบบสำรวจความต้องการของผู้ร่วมประชุมและตัวเลขตามสูตรของกรมโยธา แต่ผมก็ยังมองว่าเรากำลังหลงประเด็นอยู่ดี ตัวเลขของกรมโยธามันก็ยังลอยแคว้งคว้างแบบสับสนกันเองเพราะมีสองสูตรในการคิด คือคิดแบบตามขนาดพื้นที่และตามจำนวนรถยนต์ที่จอด ตัวเลขของผู้ที่มาประชุมมันใช่ตัวเลขของคนที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันจริงๆหรือ? เพราะมีบางท่านบอกเองว่าไม่ได้ปั่นจักรยาน ดังนั้นหากถามผมๆมองว่ากลุ่มที่ประชุมที่ทางชมรมเชิญมานั้นไม่ใช่คนที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเลย ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆในที่ประชุมวันนั้นมีใครปั่นจักรยานมาประชุมบ้าง มีปั่นมากันกี่คน เอาเป็นว่าผมเป็นคนหนึ่งที่ปั่นจักรยานมาประชุมผมจอดจักรยานเห็นมีจักรยานจอดอยู่ประมาณ4-5คัน ไม่รวมรถของผมนะครับ ถ้าทุกคันที่จอดเป็นของผู้มาร่วมประชุมผมว่ามันก็น้อยอยู่ดีเพราะมีผู้มาร่วมประชุมน่าจะราว50คนโดยประมาณ หากจะอ้างว่ามันไม่มีที่จอดผมก็ตอบว่ามีครับก็ผมจอดอยู่นี่ไง จอดร่วมกับรถจักรยานยนต์ ถ้าจะอ้างว่ามันไกลมันก็ต้องถามว่าแค่ไหนเรียกว่าไกล? ผมปั่นจากบ้านรามอินทรา กม.8ไปที่โรงแรมที่ตั้งอยู่ถนนประดิพัทธ์ ระยะทางร่วมๆน่าจะเกือบ20กิโล สรุปแบบนั้นผมปั่นมาไกลเกินไปหรือเปล่าครับ?

หากเราจะทำที่จอดจักรยานผมไม่สนับสนุนให้บังคับราชการหรือพื้นที่เอกชนต้องมีที่จอดจักรยานแยกออกไปจากส่วนเดิม อย่างเช่นที่น้องสถาปนิกคนหนึ่งในที่ประชุมบอกว่าที่จอดรถยนต์มีกฎหมายหรือข้อกำหนดบังคับแต่ที่จอดรถจักรยานยนต์ยังไม่มีแล้วเราทำไมข้ามขั้นตอนจะทำกฎที่จอดจักรยานเลย ใช่...ผมเห็นด้วยเพราะในสังคมปัจุบันคนใช้รถจักรยานยนต์มากกว่าใช้รถจักรยาน แล้วทำไมเราต้องเร่งสร้างกฎ ทำไมเราไม่ขอความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐขอความร่วมมือกับภาคธุรกิจเอกชนในการจัดพื้นที่จอดร่วมกับรถจักรยานยนต์ล่ะครับ มันง่ายกว่าไหม มันจะรวดเร็วกว่าไหมและสำคัญมันจะประหยัดเงินงบประมาณมากกว่าหรือไม่? 

"นี่คือคนที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน"
และหากเราจะทำที่จอดจักรยานผมแนะนำครับว่าให้ลงพื้นที่ชุมชนใหญ่ก่อนดีกว่าครับ ชุมชนแต่ละชุมชนจะมีพื้นที่หลัก เช่น ตลาด ป้ายรถเมล์ เน้นที่ชุมชนเพราะที่เหล่านี้ล่ะครับคือคนที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันจริงๆ เขาใช้มันไปจ่ายกับข้าวที่ตลาด เขาใช้มันไปต่อรถเมล์ ส่วนที่บอกว่าขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้า ผมก็เรียนถามตรงๆก็ได้ ถ้าบ้านผมอยู่ กม.8 ผมจะไปสะพานควายแบบวันที่มาประชุม ผมจะปั่นจักรยานไปจอดแล้วต่อรถไฟฟ้าที่ห่างบ้านผมเป็นสิบโลทำไมครับ? หากผมอยากจะเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนผมก็คงปั่นไปจอดจักรยานผมไว้ที่หน้าปากซอยมากกว่า อย่างที่ท่านดร.ธงชัย เอาตัวเลขสถิติมาบอกเองว่าคนใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเขาปั่นกันแค่4-5กิโล/วัน เท่านั้น

ผมว่าเรามาคิดให้รอบครอบกันก่อนดีหรือไม่ว่า พวกเรากำลังหลงประเด็นกันหรือเปล่า ผมว่าเริ่มต้นที่จุดเล็กๆแต่สำคัญที่สุดจะดีกว่าครับ เพราะวันนี้ท่านลากคนกลุ่มสองของพีระมิดมานั่งคุยทั้งนั้น


วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558

ปั่นจักรยาน ใช้สมองมากกว่าใช้ขา

การปั่นจักรยานไม่ใช่คิดแต่จะรู้จักแต่ยี่ห้อจักรยานว่ายี่ห้อไหนถูกยี่ห้อไหนแพง สนใจแต่อุปกรณ์ตกแต่งว่าอันไหนเท่อันไหนหรูแต่ที่เราควรต้องรู้คือตัวเราเองเพราะจักรยานมันเป็นทั้งพาหนะที่ใช้ในการเดินทางในชีวิตประจำวัน ใช้ในกิจกรรมสันทนาการในการออกกำลังกายรวมถึงใช้ในการแข่งขัน แต่ทั้งหมดมันมีอยู่อย่างหนึ่งที่คนปั่นจักรยานต้องใช้เหมือนๆกันนั่นก็คือ "แรงของตัวเราเอง ในการขับเคลื่อนจักรยาน"

ดังนั้นการปั่นจักรยานจึงควรรู้จักแรงของเราให้มากที่สุด ไม่ว่าคุณจะปั่นจักรยานแบบสันทนาการหรือจะเป็นนักแข่งก็ไม่ต้องบ้าพลัง ไม่ต้องโชว์พาวอะไร ปั่นไปตามกำลังของคุณและรู้จักยืดหยุ่นกำลังของคุณเพื่อให้ร่างกายรับได้ ไม่ใช่ตะบี้ตะบันปั่นโชว์ความเป็นขาแรง ที่ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพราะช่วงนี้ผมเห็นข่าวบ่อยครั้งเรื่องผู้ใช้จักรยานประสบอุบัติเหตุจากการโชว์ความเป็นขาแรงแต่สติไม่ค่อยมีทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และบางรายถึงขั้นเสียชีวิต และบางคนก็โชว์พลังมาเกินไปไม่ดูว่าสภาพร่างกายรับได้หรือไม่ สุดท้ายก็น็อค

"ไม่ได้เป็นโปรจักรยานแล้วเสือกเขียนเรื่องจักรยานทำไม" หลายคนอาจจะสงสัยแต่ที่ผมเขียนเรื่องพวกนี้ผมเขียนในฐานะที่ผมเป็นนักกีฬามาก่อนเคยเล่นกีฬาทั้งประเภททีมและกีฬาบุคล เคยลงแข่งขันกีฬาตั้งแต่ระดับโรงเรียนจนถึงระดับประเทศมาแล้ว (กระซิบนิดๆก็ได้ว่าผมเคยเป็นแชมป์ประเทศไทยในกีฬาที่ผมแข่งขันถึงสามสมัย)

ถึงแม้นกีฬาที่ผมเคยแข่งขันจะไม่ใช่จักรยานแต่ผมก็มองว่าการออกกำลังกายการเล่นกีฬาไม่ว่าจะประเภทไหนมันก็มีหลักการในการใช้พละกำลังที่คล้ายกัน ดังนั้นคุณต้องรู้จักร่างกายของคุณให้มาก ต้องรู้ให้เยอะกว่ายี่ห้อรถจักรยาน รู้ให้มากกว่าของประดับตกแต่ง ไม่ต้องสนใจเรืองเครื่องทรงเครื่องประดับให้มากนักแต่ให้สนใจเรื่องตัวเอง มองดูว่าคุณเป็นใคร อายุเท่าไหร่ มีโรคประจำตัวหรือไม่ ดังนั้นกฏเหล็กของนักกีฬาที่ดีคือ "ต้องรู้จักร่างกายตัวเอง" คุณต้องยืดหยุ่นร่างกายให้เป็น รู้จักการควบคุมระบบการหายใจ และต้องสังเกตกล้ามเนื้อของคุณทุกส่วนว่ามันมีอาการผิดปกติหรือไม่ ถ้ามี...อย่าฝืน อย่าดันทุรัง คนเก่งคือคนที่ยืนอยู่ได้นานกว่า ไม่ใช่คนที่ถึงแล้วตายก่อน

ดังนั้นหากคุณปั่นจักรยานไม่ว่าจะเป็นเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวันหรือเพื่อสันทนาการหรือการแข่งขัน คุณต้องรู้จักการบริหารจัดการแรงอย่างมีประโยชน์ รู้จักออมแรงเมื่อถึงจุดที่ต้องออม ไม่ใช่มีเท่าไหร่ปล่อยหมด สมัยที่ผมแข่งขันกีฬานั้นผมจะไม่รุกหนักคู่ต่อสู้แต่ผมจะค่อยๆเดินเข้าหาและถอยออกมาเป็นบางจังหวะเพื่อถนอมแรงตัวเองเอาไว้และปล่อยมันออกไปเมื่อถึงเวลาและมีเป้าหมายที่ชัดเจนและหยุดเมื่อรู้สึกว่ามันไม่มีประโยชน์ที่จะใช้กำลังของเรา

ในฐานะที่ผมเคยเล่นกีฬามาก่อนผมจึงจะบอกว่าไม่ว่ากีฬาชนิดไหนความเก่งกาจของนักกีฬามันมาจากพลังสองส่วน ส่วนที่หนึ่งคือพลังร่างกาย แต่ส่วนที่สองที่สำคัญคือ "พลังสมอง" ดังนั้นรู้จักใช้มันให้มากๆครับเพื่อตัวคุณเอง


วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

อัปรถ ไม่อัปคน

กระแสการปั่นจักรยานทำให้เกิดการแข่งขันกันค่อนข้างมากในตลาดนี้โดยเฉพาะการอัปเกรดรถจักรยานให้เป็นสุดยอดจักรยาน บางคนซื้อจักรยานมาก็อัปเกรดเปลี่ยนล้อ เปลี่ยนชุดเกียร์เปลี่ยนโน่นนี่นั่นเพื่อยกระดับรถให้เต็มพิกัดเทพก่อนออกไปปั่น แต่พอไปปั่นก็ยังห้อยท้ายเขาเหมือนเดิม ปั่นไกลมากๆก็ไม่ไหว สปริ้นก็ไม่สามารถยืนระยะได้ สุดท้ายก็มานั่งหอบแฮ่กๆหัวใจจะวาย สาเหตุเพราะหลงลืมไปว่าจักรยานมันมีปัจจัยหลักอยู่นั่นคือ แหล่งของกำลังงานที่จะขับเคลื่อนมันให้พุ่งไปข้างหน้า ดังนั้นบ่อยครั้งที่จะเห็นนักปั่นจักรยานที่จัดเต็มทั้งชุดปั่น จัดเต็มทั้งการอัปเกรดรถจักรยานแบบอลังการงานสร้างแต่ปั่นสู้รถเดิมๆหรือรถราคาถูกๆไม่ได้ เพราะมัวแต่อัปรถแต่ไม่เคยอัปคน "รถแต่งเติมได้ แต่เติมแรงต้องฝึกฝนนะครับ"



วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ปั่น ปัน รัก

อันที่จริงผมเริ่มหันกลับมาปั่นจักรยานอีกครั้งหลังจากที่หยุดปั่นจักรยานไปตั้งแต่เริ่มเข้าสู่รั้วมหวิทยาลัยเพราะไปหลงติดกับการขับรถยนต์และชอบซิ่งมอเตอร์ไซด์จีบสาวมากกว่า แต่พอมาถึงจุดหนึ่งเมื่อเวลามันเดินผ่านไปผมเริ่มมองย้อนกลับไปเมื่อช่วงหนึ่งของชีวิต ช่วงที่ผมใช้ชีวิตแบบเต็มที่ กิน เที่ยว อดหลับอดนอนโดยไม่ใส่ใจกับตัวเองมาถึงเวลานี้ผมกลับมาออกกำลังกายรวมถึงการใช้จักรยานเป็นพาหนะในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะปั่นจักรยานไปทำงาน ปั่นไปสังสรรค์กับพรรคพวก ปั่นไปซื้อของปากซอยซื้อกับข้าวที่ตลาด ปั่นจักรยานไปท่องเที่ยวต่างจังหวัด เรียกว่ารถยนต์รถมอเตอร์ไซด์จอดทิ้งขี้ฝุ่นเกาะ

ตอนที่ผมเริ่มหันมาใช้ชีวิตแบบนี้มีเพื่อนๆของผมหลายคนสงสัยและคิดว่าผมกำลังจะบอกรักษ์โลกบอกรักส้งคมสิ่งแวดล้อมหรืออย่างไร บางคนก็คิดว่าผมแอบไปปิ๊งกับสาวๆที่ชื่นชอบการปั่นจักรยานเป็นแน่ถึงลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเองแบบนี้ แต่ทั้งหมดที่ผมทำลงไปนั้นผมอยากจะบอกเลยนะครับว่าไม่ใช่เพราะผมอยากจะทำเพื่อบอกรักใครหรอกนะ ทุกอย่างผมทำเพื่ออยากจะบอกว่าผมรักตัวเองล้วนๆจริงๆ(ฮา)





วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ประสบการณ์ในการปั่นจักรยานเที่ยว

เรื่องราวดีๆกับการที่เราได้ปั่นจักรยานท่องเที่ยวนั้นคงไม่สามารถอธิบายหรือบอกได้คุณต้องออกไปสัมผัสด้วยตัวคุณเองเพราะคงไม่มีใครสามารถจะเอาความรู้สึกมาใส่ลงไปในตัวคุณได้ สิ่งเหล่านี้มันเป็นอารมณ์ส่วนตัวล้วนๆไม่มีเรื่องของตรรกะหรือทษฎีอะไร นอกจากออกไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง ดังนั้นหากคุณมีความฝันอยากปั่นจักรยานเที่ยว อย่าเก็บมันไว้ให้เป็นแค่ความฝัน





วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2558

เหนื่อยนักก็พักก่อน

หลายครั้งที่ผมเดินทางด้วยจักรยาน ผมจะเจอคำถามว่า"ปั่นมาจากไหน?แล้วจะไปไหน?เหนื่อยมั้ย?" มีเพื่อนผมหลายคนมองว่าผมจะปั่นจักรยานทำไมไกลๆให้เหนื่อย ทำไมไม่เอาจักรยานใส่รถยนต์มาแล้วค่อยไปปั่นแถวสถานที่เราไปท่องเที่ยวก็ได้ที่จริงผมทำแบบนั้นก็ได้ครับ แต่ผมชอบที่จะปั่นเดินทางโดยเริ่มต้นล้อหมุนจากหน้าบ้านไม่ใช่จากปากทางที่พัก เพราะมันให้ความรู้สึกว่าเรากำลังปั่นจักรยานท่องเที่ยวจริงๆไม่ใช่เอาจักรใส่รถไปปั่นเล่น

ดังนั้นหากผมเจอคนถามว่าปั่นจักรยานทางไกลแบบนี้ไม่เหนื่อยหรือ หากจะตอบว่าไม่เหนื่อยก็ดูจะดัดจริตเพราะความจริงมันเหนื่อยจนถึงเหนื่อยมาก แต่หากเราปั่นแบบรู้จักประเมินกำลังตัวเองรู้จักพักร่างกาย ระยะทางมันก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร


การปั่นจักรยานท่องเที่ยวไม่ว่าระยะทางจะไกลแค่ไหนก็ไปถึงแค่ยึดหลักง่ายๆว่า "เหนื่อยก็พัก ไม่ไหวก็หยุด" ซึ่งประสบการ์แบบนี้มันสนุกจริงๆแต่คุณต้องลองด้วยตัวเอง "ไปขี่จักรยานเที่ยวกันนะครับ"

วันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2558

กระแสลมกับการปั่นจักรยาน

เมื่อวานอยู่ๆอากาศก็เกิดแปรปรวนขึ้นมาจากที่ไม่มีลมแรงอากาศไม่หนาวอยู่ๆก็เปลี่ยนไป ดันมีลมกระโชกแรงพร้อมกับอากาศเย็นๆที่ตามแบบไม่ให้ปรับตัวกันผมเองก็ต้องเจอกับปัญหานี้เต็มๆเพราะต้องปั่นจักรยานไปทำงานโดนกระแสลมต้านจนทำให้ระยะทางที่เราเคยปั่นไปทำงานทุกวันเหมือนไกลไปกว่าเดิม

ลมที่เกิดขึ้นมานั้นผมไม่มีหลักทางวิทยาศาสตร์อะไรมาเขียนหรอกนะครับว่ามันเป็นลมอะไรมาจากไหนพัดแบบไหนเพราะไม่ได้เป็นกูรูด้านนี้เอาเป็นว่ามันเป็นลมที่เรารับรู้ได้จากความรู้สึกของผมเองจากการปั่นจักรยานไปทำงานทุกวันว่าวันนี้ลมไม่แรงวันนี้ลมมันแรงกว่าทุกวันพอสมควรทำให้ผมได้เรื่องมาเขียนในบล็อคนี้เพื่อแชร์ข้อมูลการปั่นกันเพราะกระแสลมแรงที่ต้านเราขณะปั่นจักรยานนั้นมันส่งผลทำให้นักปั่นเหนื่อยง่ายขึ้นนั่นเอง ดังนั้นครั้งนี้ผมเลยมาแชร์วิธีการเพื่อปั่นผ่านกระแสลมไปโดยที่เราไม่ต้องหอบแฮ่กๆ



วิธีแรกในการแก้ไขการปั่นจักรยานต้านกับกระแสลมนั้นผมใช้วิธีง่ายๆนั่นก็คือกดตัวเองให้ต่ำลงเพื่อลดการปะทะลมตรงๆให้มากที่สุดแต่ในคำว่ามากที่สุดมันต้องไม่ใช่ท่าที่ทำให้เราลำบากในการควบคุมรถหรือเกิดอาการเมื่อล้าจนเกร็งนะครับ เอาเป็นว่าก้มหลบลมโดยจับต่ำเปลี่ยนท่าทางในการจับแฮนด์หรือก้มตัวลงเพื่อมุดลมเท่านั้น เพราะผมปั่นจักรยานในเมืองหลวงของประเทศไทยบางครั้งหากก้มมากมุดมากก็จะเมื่อยล้ากล้ามเนื้อมากพอมันเมื่อยมากก็อาจจะเป็นตะคริวเกร็งขึ้นมาทำให้ควบคุมรถไม่ได้เสียจังหวะอาจโดนรถเมล์รถใหญ่ใจดีทั้งหลายหอบไปพร้อมพวกเขาได้(ฮา)


วิธีที่สองคือผมจะลดเกียร์ลงครับ นั่นคือผมจะปั่นในเกียร์ต่ำ หน้า2หลัง3-4 เพราะผมไม่อยากไปแข่งกับกระแสต้านของลมแค่ต้องการให้รถเคลื่อนไปข้างหน้าและขาสามารถปั่นได้สบายๆไม่หน่วงจนเกินไปซึ่งในส่วนของการใช้เกียร์ก็แล้วแต่คนนะครับว่าใครรู้สึกสบายขากับเกียร์ไหนในกระแสลมที่ต้านคุณอยู่ก็ใช้เกียร์นั้น

ดันนั้นเรื่องของกระแสลมต้านขณะปั่นจักรยานของผมจึงใช้วิธีแก้ง่ายๆแบบนี้เพราะมันเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้าส่วนวิธีที่มีบางท่านแนะนำว่าให้เปลี่ยนขนาดล้อเป็นล้อหน้าเล็กลงกว่าล้อหลังเพื่อตัดกระแสลมหรือเปลี่ยนใส่ล้อคาร์บอนที่มีน้ำหนักเบาใส่หมวกที่ลู่ลมปรื้ดๆใส่ชุดปั่นแนบผิวแบบนักแข่งเอาเป็นว่าผมมันคนงบน้อยไม่มีทุนไปทำอะไรเยอะแยะแบบนั้นก็แค่ปั่นให้สนุกและมีความสุขไปกับการแก้ปัญหาที่เราเจอเท่านั้นก็พอแล้ว (ฮา)




วันเสาร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2558

การเตรียมตัวปั่นจักรยานท่องเที่ยวทางไกลแบบง่ายๆ

สำหรับนักปั่นจักรยานนั้นมีหลายแบบหลายแนว บางท่านก็ชอบที่จะปั่นจักรยานแบบออกกำลังกาย บางท่านก็เน้นการแข่งขัน บางท่านก็อาจจะเป็นแค่แฟชั่นเห็นเขานิยมกันก็เอาด้วยจึงยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน สำหรับผมแล้วหลักๆผมชอบท่องเที่ยวป่าเที่ยวเขาชื่นชมธรรมชาติทำให้การปั่นจักรยานของผมจึงเป็นแบบทัวร์ริ่งเน้นการท่องเที่ยว ไม่เน้นความเร็ว


ปกติผมจะชอบเดินทางท่องเที่ยวคนเดียวมากกว่าการเดินทางเป็นกลุ่มคณะเพราะสันดานส่วนตัวของผมเป็นขี้รำคาญก็เลยไม่ชอบไปกันหลายๆคน เพราะคนเยอะมันก็เรื่องเยอะไปด้วย เดี๋ยวคนนั้นปั่นไม่ไหวเดี๋ยวคนโน้นปั่นเร็วไป คนนั้นชอบแวะคนโน้นไม่ชอบแวะ คนนั่นจะกินโน่นคนนี้จะกินนั่น เอาเป็นว่าผมไม่อยากมีปัญหากับเรื่องพวกนี้ผมเลยเลือกที่จะเดินทางคนเดียวมากกว่า และวันนี้ผมของเขียนถึงวิธีการเตรียมตัวเพื่อปั่นจักรยานท่องเที่ยวในแบบของผมกันครับเพื่อจะเป็นแนวทางให้กับเพื่อนๆท่านอื่นๆ



การเตรียมตัวปั่นจักรยานทางไกลนั้นผมแบ่งง่ายๆสองส่วน

1. ก่อนการเดินทางให้คุณเช็คสภาพรถของคุณให้พร้อม
อันดับแรก.เช็คลมยางให้พอดีโดยดูจากข้างขอบยางว่าควรจะเติมลมเท่าไหร่ถ้าคุณไม่มีที่วัดก็ให้ใช้มือกดล้อดูว่ามันแข็งหรือนิ่มเกินไปหรือไม่ อย่าให้ยางแข็งไปเพราะมันจะกระด้างเวลาปั่นและหากปั่นทางร้อนๆเป็นระยะเวลานานๆมันจะมีแรงดันจากลมยางมากขึ้นอาจจะทำให้ยางแตกได้ง่ายและถ้ายางนิ่มเกินไปก็จะทำให้คุณต้องเหนื่อยแน่ในการปั่นระยะทางไกลๆเพราะมันจะหนืดอีกทั้งการเช็คระยะของยางก็ควรคำนึงเรื่องของน้ำหนักบรรทุกด้วยอย่าลืมว่าคุณปั่นทัวร์ริ่งคนเดียวไม่มีรถเซอร์วิสตามตูดแบกของให้คุณดังนั้นคุณต้องตรวจสอบให้เรียบร้อยก่อนเดินทาง
อันดับที่สอง. เช็คเบรค คุณควรเช็คระบบเบรคให้พร้อมก่อนออกเดินทางเพราะระบบเบรคที่ดีก็จะช่วยให้คุณปลอดภัยมากขึ้นด้วย
อันดับสาม. เช็คระยะท่านั่งความสูงต่ำของเบาะให้พอดีกับช่วงขาและแขนของคุณเพื่อลดความเมื่อล้าระหว่างการปั่นทางไกลๆนั่นเอง
2. อุปกรณ์เดินทาง
อุปกรณ์ในการเดินทางแบ่งเป็นสองส่วนดังนี้
ส่วนแรก อุปกรณ์สำหรับรถจักรยานของคุณนั่นก็คือปั๊มลม ยางในสำรอง ชุดปะยาง เครื่องมือสำหรับไขปรับแต่ง ไฟจักรยานแต่ปกติก็ไม่ค่อยได้ใช้หรอกครับเพราะปั่นทัวร์ริ่งไม่นิยมปั่นกลางคืนแต่มีไว้ก็ดี กระดิ่งจักรยานเผื่อไว้เวลาต้องขอทางหรือเพื่อขอความช่วยเหลือ ส่วนพวกไมล์จักรยานใครอยากติดไว้โชว์ตัวเลขก็ติดครับแต่ผมไม่ติดเพราะมันเก่ะก่ะ
ส่วนที่สอง อุปกรณ์สำหรับตัวนักปั่นหลักๆจะประกอบด้วย
-เต็นท์ขนาด1คนนอน เต็นท์ขนาดใหญ่จะหนักยิ่งหนักก็คือภาระในการปั่น
-อุปกรณ์การนอนเช่นผ้ายางเบาะรองนอน
-ชุดเสื้อผ้าสำหรับเปลี่ยนแนะนำว่าอย่าขนไปเยอะแค่สองชุดสามชุดก็เพียงพอแล้วเยอะมากมันก็หนัก
-อุปกรณ์ในการทำอาหารในกรณีที่คุณอาจจะต้องทำอาหารทานเองส่วนตัวผมจะใช้เตาแก๊สสนามและหม้อใบเดียวใช้ทั้งต้มน้ำหุงข้าวหรือทำอาหารได้หมด
-มีดพก เอาไว้ใช้ตัดหั่นเจาะขุดและป้องกันตัวในยามฉุกเฉิน
-ยาแก้ปวดลดไข้ ยาทาเวลาแมลงสัตว์กัดต่อย ครีมกันยุงสำหรับสาวๆผิวบอบบาง แปรง+ยาสีฟัน
-รองเท้าที่เหมาะสมในการปั่นจักรยาน เดินป่า เดินเล่น ในคู่เดียวกันจะได้ไม่ต้องเอาไปหลายคู่
-หมวก ผมจะใช้หมวกแบบปีกกว้างและมีผ้าปิดกันแดดเพื่อใช้บังแดดแต่ใครอยากจะใส่หมวกจักรยานก็ตามสะดวกแต่ผมไม่ใส่เพราะมันร้อนยิ่งปั่นไกลยิ่งร้อน
-แบ็ตเตอรี่สำหรองมือถือ Power Bank ตอนนี้ผมใช้แบบมีโซล่าเซลด้วยปั่นไปก็ชาร์ตไป
-ไฟฉายขนาดพอดีอย่าใหญ่ไปเน้นกำลังส่องสว่างโดยเราสามารถใช้มันเป็นไฟหน้าจักรยานได้ด้วย
-แผนที่ เพื่อใช้ดูเส้นทางแม้นเราจะมีปากไว้ถามทางหรือมี GPS , Google mapแต่มีแผนที่ไว้จะดีกว่าเพราะบางพื้นที่เราอาจจะไม่เจอคนให้ถามทางหรือระบบอากู๋GPSมันไม่สามารถหาตำแหน่งได้



เพียงเท่านี้ครับเพราะเราปั่นจักรยานทัวร์ริ่งท่องเที่ยวทางไกลในประเทศไทย ดังนั้นจึงไม่ควรแบกอะไรไปเยอะนักเอาแค่พอใช้และเท่าที่จำเป็นก็พอส่วนอุปกรณ์จักรยานเช่นกระเป๋าจักรยานก็ตามสะดวกครับใครจะเน้นหรูเน้นถูกหรือDIYก็ตามสะดวกเพราะมันไม่ใช่ประเด็นที่ทำให้คุณปั่นจักรยานท่องเที่ยวได้หรือไม่ได้ และผมอยากจะฝากข้อสำคัญอีกอย่างก่อนการปั่นจักรยานท่องเที่ยวทางไกลเราควรวางแผนการเดินทางให้ดีว่าเราจะปั่นไปไหนทางไหนผ่านอะไรบ้างและมีระยะทางเท่าไหร่สภาพเส้นทางสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างไรเพราะทั้งหมดเหล่านี้จะส่งผลกับความเร็วในการปั่นของเราในแต่ละวันและสุดท้ายกฎเหล็กสำหรับการปั่นจักรยานท่องเที่ยวนั่นก็คือเราต้องเคารพกฎจารจรและระมัดระวังหลีกเลี่ยงเส้นทางที่อาจจะทำให้เราเกิดอุบัติเหตุอย่าไปแคร์เรื่องความเร็วหรือห่วงความเท่แบบโง่ๆมันก็จะทำให้การเดินทางท่องเที่ยวด้วยจักรยานของคุณปลอดภัยขึ้นนั่นเอง


ขอให้มีความสุขกับการเดินทางท่องเที่ยวด้วยจักรยานครับ


EZ noneny AD